Bharata Land

ทริปนี้วางแผนกันอย่างยาวนาน หลังจากตกลงกันได้ ก็เริ่มจองตั๋วกันตั้งแต่เดือนพฤษภา ถือเป็นการจองตั๋วล่วงหน้าที่นานที่สุด แต่ถึงอย่างงั้นค่าตั๋วก็ไม่ได้ถูกมากมาย ในส่วนของการวางแผนที่เที่ยว ก็มีตัวช่วยนิดหน่อย เพราะเพื่อนของเพื่อนเคยไปมาแล้ว แถมเพื่อนก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไปอยู่ในใจ งานนี้เราเลยแค่เอาที่เที่ยวๆต่างๆมาเรียงลำดับว่าจะไปอะไรก่อนหลัง แล้วก็หาที่กินข้าวเพิ่มเข้าไป แต่ก็มีความยุ่งยากนิดนึง เพราะแต่ละเมืองมีที่อยากไปหลายที่เหลือเกิน แถมบางวันต้องเดินทางข้ามเมืองไปมา โปรแกรมที่วางไว้ เลยดูอัดแน่น มีให้ลุ้นอยู่ตลอดว่าจะไปทันหรือไม่ทัน

Day 1 Bangkok – New Delhi – Agra

วันแรกเริ่มต้นด้วย Flight เวลาสุดโหดจาก Spice Jet SG088 ออกเดินทางตอนตี 3.35 นัดกันกับเพื่อนออกจากบ้านตอนตีหนึ่ง จะนอนก็ไม่หลับ จะไม่นอนก็ง่วง เป็นเวลากึ่งๆกลางๆ และเป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนแบบเรา อยากจะถามเพื่อนเหลือเกินว่าทำไมต้องเลือกไฟลท์ใจร้ายขนาดนี้ แถมยังเป็นกังวลว่าจะต้องทนดมกลิ่น Spice เหมือนกับชื่อสายการบินรึป่าว

สลึมสลือสะโหลสะเหลตั้งแต่ออกบ้าน มาถึงเคาน์เตอร์เช็คอิน ดูคิวไม่ยาว แต่แต่ละคิวใช้เวลาอยู่หน้าเคาน์เตอร์อย่างนาน พอมาถึงคิวตัวเองถึงได้รู้ว่าที่ช้าเป็นเพราะสนามบินจะต้องเช็คหลายสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวีซ่า ซึ่งไม่ได้เช็คธรรมดาว่าแค่มี แต่เค้าจะต้องเอาไปตรวจกับเว็บของอินเดียว่าวีซ่ามันใช้ได้จริงรึป่าว เช็คตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับ เช็คบัตรเครดิตตัวจริงที่ใช้ในการจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบิน

มาถึงจุดนี้ เกิดอาการช็อค เพราะบัตรเครดิตที่ใช้ไม่อยู่แล้ว มันหายไป แจ้งอายัด จนได้ใบใหม่มาเรียบร้อยแล้ว สองคนมองหน้ากันด้วยความงง เดินทางมาทั้งชีวิตเพิ่งเจอสายการบินที่ขอเช็คบัตรเครดิต คือถ้าเป็นแค่จองไว้แล้วยังไม่จ่ายเงิน ก็ยังเข้าใจได้ แต่นี่จ่ายเงินตัดบัตรกันไปเรียบร้อยตั้งแต่เดือนพฤษภา จะมาขอดูเพื่ออะไร แต่อันนี้ก็โทษใครไม่ได้ ในเอกสารจองมีเขียนข้อนึงไว้ว่าจะขอดู เป็นหนึ่งข้อในสิบๆข้อที่ตัวเล็กๆ เราถามไปถามมา เลยเข้าใจว่าสิ่งที่เค้าต้องการจริงๆมีแค่เลข 16 หลัก คือเค้าจะใส่ไปในระบบ แล้วมันก็จะผ่านไปได้ โชคดีที่หลังจากหาอยู่นาน ก็ไปเจอเอกสารนึงที่ทำเรื่องไว้ แล้วมีเลข 16 หลัก พอบอกเจ้าหน้าที่ไป เค้าบอกว่าไม่พอ เค้าขอหลักฐานยืนยันว่าเป็นบัตรของเราจริง เราก็เอา statement เรียกเก็บเงินที่มีเลขบัตรเครดิต 12 หลักที่ตรงกันให้ดู ขาดเลขไปอีก 4 หลัก เพราะธนาคาร XXXX ไว้ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ ไม่เห็นเลขอีก 4 หลัก โว้ย อยากจะถามว่ามันจะมีใครมาปลอมบัตรมั๊ย จะปลอมไปเพื่อ ตั๋วเครื่องบินก็ตัดจ่ายเงินไปแล้ว เลข 16 หลักก็บอกได้ Statement ก็มีเลข12 หลักที่ตรง ชื่อบน Passport ก็มี หลักฐานยืนยันตัวตนก็มี แค่บัตรเครดิตที่หายไปมันไม่อยู่แล้ว จุดนี้คือไม่ประทับใจเจ้าหน้าที่อย่างแรง คือ ไม่ได้เซ็งที่เค้าทำตามกฎเค้านะ แต่เซ็งที่ชีวิตนี้จะช่วยเหลือกันรึป่าว ตอนที่เรากำลังทำตัววุ่นวายพยายามหาเอกสาร เจ้าหน้าที่พูดมาแค่คำเดียวว่า เคาน์เตอร์จะปิดตอนตีสองครึ่งนะคะ เราถามย้อนไปว่าแล้วทำยังไงได้บ้างถ้าหาไม่ได้ เค้าบอกว่าต้องซื้อตั๋วใหม่ แล้วไปทำเรื่องขอคืนเงินตั๋วเดิมกับสายการบินทีหลัง เราก็ไม่กล้าเอามั๊ย กลัวมันไปขอคืนเงินไม่ได้ กลายเป็นว่าเราจะต้องจ่ายเงินดับเบิ้ลไปเลย สุดท้ายเราก็บอกว่า เราขอโทรไปที่ธนาคารได้มั๊ย ให้เค้ายืนยันว่าเราเป็นเจ้าของบัตรจริง ตอนแรกก็ไม่ยอม สุดท้ายก็โอเค ตอนเราให้เค้าคุยกับธนาคาร ยังมีความงงอีก ธนาคารบอกยอดที่ตัดเงินตรงกับใบเสร็จที่ออก แต่เจ้าหน้าที่บอกยอดที่เค้ามีในระบบไม่ตรงกัน บ้ารึป่าว ธนาคารกับใบเสร็จตรงกันจะเอาอะไรอีก เจ้าหน้าที่งงอยู่พักใหญ่ หัวหน้ามาบอกว่าให้ผ่านก็ได้ แต่ให้โน้ตเอาไว้นะ จะบ้าตาย สุดท้ายก็ผ่านได้ ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเค้าจริงๆ

กว่าจะได้ขึ้นเครื่องความง่วงทั้งหมดที่มีก็หายไป เตรื่อง Spicejet ก็โอเคใช้ได้เลย ชอบที่นั่ง ไม่รู้ทำไม มันพอดีกับตัว นั่งสบายกว่าสายการบินอื่น ในส่วนของเรื่องกลิ่น อาจจะโชคดีที่จมูกพังไม่ค่อยได้กลิ่น บวกกับใส่หน้ากากไปด้วย เลยไม่ได้กลิ่นอะไร ส่วนเพื่อนบอกว่ามีกลิ่นนิดหน่อย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ก็เดินทางมาถึงสนามบิน Indira Ghandi ที่ New Delhi สนามบินที่นี่สะอาด ทันสมัย เป็นระเบียบ เหมือนสนามบินที่ได้มาตรฐานทั่วไป

ก่อนเดินมารอรับกระเป๋า ก็ต้องผ่านต.ม. ตอนมาถึงเคาน์เตอร์ที่เรียงรายอยู่เป็นสิบๆว่างเปล่า แต่พอมองมาเจ้าหน้าที่มารวมตัวกันอยู่เคาน์เตอร์นึงเป็นสิบๆคน เจ้าหน้าที่ชิวมาก เห็นคนเดินมา ก็ยังจับกลุ่มคุยเล่นกันต่อ หาได้สนใจอะไร โชคดีที่เรามาเป็นคิวแรกๆ รอแป๊ปเดียวก็ได้เจอเจ้าหน้าที่ ถามว่ามาจากประเทศไทยหรอ ชอบประเทศไทยนะ ไว้จะไปเที่ยวนะ ไม่มีการถามคำถามเบสิคของต.ม. พวกแบบมาอยู่กี่วัน จะไปที่ไหนบ้าง

ออกจากสนามบินไม่นาน ก็มองหาป้ายชื่อที่มารอรับเรา มองหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เดินออกไปดูรอบๆก็ไม่เห็น โชคดีที่เพื่อนจำสัญลักษณ์ของบริษัทรถเช่าที่จองได้ (Rajasthan Four Wheel Drive) เลยเดินเข้าไปถามคนขับคนนึง สรุปคือเค้าไม่ได้ตั้งป้ายชื่อเรา แต่ตั้งชื่อบริษัทเค้า คนขับรถมาแนะนำตัวว่าชื่อ Puran พาเราข้ามถนนเดินไปที่อาคารจอดรถ พอเห็นรถก็รู้สึกโล่งใจ รถใหม่ แอร์เย็น สรุปว่าไม่โดนหลอกไปหนึ่งเรื่องล่ะ ทำการถ่ายรูปคนขับพร้อมรถ เผื่อจำหน้าไม่ได้ทั้งคน ทั้งรถ

ขึ้นรถแล้วบอกให้ Puran ตรงไปที่ Aerocity ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินไปแค่ห้านาที เพราะว่าเราจะไปกินข้าวเช้า Puran มีการบอกว่าวันศุกร์ที่ Delhi รถติดมาก เราควรจะรีบออกจากเมือง และก็เหมือนบอกว่าจะพาไปกินข้าวระหว่างทาง เราสองคนมองหน้ากัน เคยคุยกันมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ว่าเราจะใจแข็งไม่ให้คนขับรถพาไปแวะที่ไหน เพราะเบื่อเรื่องการจะพาไปซื้อของและได้ค่าคอมของคนขับรถ เลยใจแข็งบอก Puran อย่างหนักแน่นว่าไม่ไป เราต้องไปที่นี่ เพราะเราจะไปเข้าห้องน้ำเปลี่ยนชุดด้วย Puran ก็เลยขับพาไป แบบหน้าตางงๆ สร้างความกังวลใจเล็กๆว่าทริปนี้จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้รึป่าว

ก่อนลงรถ เราเลยบอกเพื่อนว่าให้เอาแผนที่เตรียมมาให้ Puran ไปศึกษาเลย เค้าจะได้เข้าใจว่าเราจะไปไหน เพราะเราจะไปเที่ยวใน Delhi อีก ที่บอกให้ออกจาก Delhi เร็วๆก็ไม่ใช่ล่ะ ที่ตลกคือ พอมาคิดๆดูวันนั้นก็ไม่ใช่วันศุกร์ ไม่รู้เค้าบอกเราแบบนั้นเพราะอะไร หรือจะฟังกันไม่รู้เรื่อง เอาจริงๆพูดกันไปมาก็ดูเหมือน Puran จะไม่ได้เข้าใจภาษาอังกฤษของพวกเรามาก เหมือนที่เราก็ไม่ได้เข้าใจเค้ามากเหมือนกัน คิดว่าสื่อสารกันรู้เรื่องน่าจะ 60% ไม่ลำบาก แต่ห้ามพูดคุยกันเยอะๆ เป็นประโยคยาวๆ ถ้าพูดสั้นๆ จะเข้าใจกันหมด แต่ถ้าเราเริ่มถามนู้นนี้ ชวนคุย จะเริ่มรู้ว่า ถามไปอย่าง เค้าตอบมาอีกอย่าง

Aerocity เป็นแหล่งรวมโรงแรม เราแวะไปโรงแรม Hyatt เพื่อไปกินอาหารเช้าที่ร้าน AnnaMaya แถมได้เข้าห้องน้ำเปลี่ยนชุดไปด้วยเลย บุฟเฟต์ของร้านน่ากินเพราะมีหลายเคาน์เตอร์มาก ทั้งฝรั่งอินเดีย ทั้งคาวหวาน แถมร้านนี้ยังบอกว่าวัตถุดิบเป็น organic มาจากธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง เอาจริงๆ ร้านส่วนมากในอินดียก็จะโฆษณาแนวนี้หมด แต่สุดท้ายก็สั่งเป็นอาหารฝรั่งจานเดียว เพราะเดี๋ยวมือกลางวัน ก็มีแพลนไปกินอาหารอินเดียมื้อใหญ่อีก อาหารรสชาติอร่อย เติมพลังเรียบร้อยพร้อมสำหรับการเที่ยววันนี้

ออกจากโรงแรมมา Puran ก็รออยู่ ความพิเศษอีกอย่างของ Puran คือเค้าไม่มี Smartphone เพราะฉะนั้นเราก็ติดต่อเค้าไม่ได้ ดังนั้น ก็จะนัดสถานที่และเวลาที่จะมาเจอกันให้เรียบร้อยก่อนลงรถ พอกลับขึ้นรถมา ความสบายใจก็เริ่มบังเกิด Puran ดูเหมือนจะเข้าใจว่าเราต้องการไปไหน มาพูดทวนสถานที่ที่ต้องไปกับพวกเราอีกครั้งด้วยหน้าตายิ้มแย้ม

India Gate

จุดแรกที่ไป คือ India Gate ซึ่งสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงทหารอินเดียที่เสียชีวิตในสงคราม ตรงกลางใต้ซุ้มประตู มีจารึกชื่อทหาร และมีกระถางจุดไฟที่ว่ากันว่าไม่เคยดับมาตั้งแต่ปี 1971 จุดนี้ไม่ต้องใช้เวลาเยอะเลย เพราะมีแค่ประตูๆเดียว ลงจากรถปุ๊ปก็จะมีคนมาตามติด ชักชวนให้ถ่ายรูป ทั้งเค้าและเราต้องมีความอดทนสูง เพราะไม่ว่าเราจะบอกว่าไม่หรือทำเฉยๆไม่สนใจ เค้าก็จะพูดถามอยู่อีกเป็นสิบๆที กว่าจะปล่อยเราไป พอหมดคนนึงก็จะมีอีกคนนึงมาถาม และก็มีคนขายมาขายของ จุดนี้ไม่วุ่นวายมาก เพราะมีคนมายุ่งแค่ 4-5 คน เราสองคนเดินถ่ายรูปจนพอใจก็กลับขึ้นรถ

Red Fort

จุดต่อมาที่แวะคือ Red Fort ก่อนลงรถ Puran บอกว่าให้เดินตรงๆไปเลยนะ ใครมาเรียกให้ซื้ออะไรไม่ต้องหยุด เดินไปจะเห็นที่ขายตั๋ว ค่อยซื้อตั๋วแล้วเดินเข้าไป ส่วนจะจ้างไกด์หรือไม่จ้าง ก็แล้วแต่พวกเรา พอพวกเราลงจากรถ ทำตามคำสั่ง Puran อย่างเคร่งครัดมาก เดินไปยังไม่ถึงจุดขายตั๋ว มีคนขับสามล้อ มาเรียก บอกว่าซื้อตั๋วนั่งรถไปมั๊ย มีขายทั้งแบบไปและแบบกลับ ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก จึงตัดสินใจซื้อตั๋วไปกลับแบบไม่รีรอ พอขึ้นรถปุ๊ป ก็รู้เลยว่าตัดสินใจได้ถูกเลย ทางค่อนข้างไกล ถ้าเดินไปกว่าจะถึงประตูทางเข้าก็เสียเวลา พอมาถึงด้านหน้ามองไป เห็นถนน แอบคิดในใจว่าทำไม Puran ไม่รู้จักพาเรามาส่งที่ด้านหน้า

มาถึงด้านหน้าเดินไปซื้อตั๋ว ข่าวดีคือ ประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ทำให้ได้ลดราคาค่าตั๋ว ไม่ต้องเสียราคาต่างชาติ จาก 600 รูปี เหลือ 50 รูปี ดีใจสุดๆ แถมด้านหน้าก็ไม่มีคิว ไม่ต้องรอนาน

Red Fort เป็นพระราชวังของจักรพรรดิ์ในราชวงศ์โมกุล ราชวงศ์โมกุลเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึง 19 โดยเริ่มต้นราชวงศ์ในยุคของจักรพรรดิ์ Babur ผู้นับถือศาสนาอิสลาม และมารุ่งเรืองที่สุดในสมัยถัดไปซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดิ์ Akbar ผู้ที่ขยายดินแดนของอินเดียไปอย่างกว้างขวาง และให้อิสรภาพในการนับถือศาสนาซึ่งทำให้เกิดความสามัคคีในประเทศ ยุคต่อมาคือยุคของจักรพรรดิ์ Jahangir ลูกชาย และจักรพรรดิ์ Shah Jahan หลานชาย จนมาถึงยุคของจักรพรรดิ์ Aurangzeb ที่ราชวงศ์โมกุลสามารถขยายอาณาเขตออกไปได้มากที่สุด ก่อนที่จะค่อยๆเสื่อมถอยลงในเวลาต่อมา

Red Fort เริ่มสร้างในยุคของจักรพรรดิ์ Shah Jahan ที่ย้ายเมืองหลวงของราชวงศ์โมกุลจาก Agra มาอยูที่ Shahjahanabad ซึ่งในปัจจุบันคือ Old Delhi Shah Jahan Red Fort ถูกสร้างโดยใช้ Agra Fort เป็นต้นแบบ แต่ Red Fort มีขนาดใหญ่กว่า Agra Fort 2 เท่า (แต่ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้นะ เพราะตอนมาเดิน Red Fort นี่เดินๆอยู่ไม่นานก็หมดแล้ว เข้าใจว่าเพราะมีหลายส่วนที่ถูกปิดไม่ให้เข้าชมอยู่) Shah Jahan มาอยู่ที่ Red Fort ได้ไม่นาน ก็ล้มป่วย และย้ายกลับไปรักษาตัวที่ Agra และโดนลูกชาย Aurangzeb จับขังอยู่ที่ Agra Fort เป็นเวลา 8 ปีก่อนจะเสียชีวิตลง หลังการเสียชีวิตของ Shah Jahan Red Fort ก็ยังคงเป็นพระราชวังของราชวงศ์โมกุลอยู่ แต่ความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของ Red Fort ก็ค่อยๆเสื่อมถอยลงตามอำนาจของราชวงศ์โมกุล Red Fort ถูกโจมตีหลายครั้ง จนสุดท้ายถูกยึดเป็นค่ายทหารของอังกฤษ จนผ่านมากว่า 100 ปี หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ Red Fort จึงถูกใช้เป็นสถานที่ในการเฉลิมฉลองอิสรภาพจนถึงปัจจุบัน

เดินจากประตูเข้ามาเรื่อยๆ แบบงงๆ เพราะว่าไม่ได้จ้างไกด์ ผ่านช่วงที่ขายสินค้าที่ระลึกมาตลอดสองข้างทาง จนมาเจอสวนขนาดใหญ่ มีอาคารรูปทรงต่างๆกันตั้งกระจายอยู่ในแต่ละจุด เดินดูแต่ละจุดแบบผ่านๆ มีอยู่สองจุดที่พวกเราใช้เวลาถ่ายรูปอยู่พักใหญ่ คืออาคารหลังสีแดง ที่ภายในเป็นซุ้มเสาเรียงต่อเนื่องกัน ที่ใช้เวลานานไม่ใช่อะไร พยายามรอถ่ายรูปแบบไม่มีคนอยู่ มารู้ทีหลังว่าอาคารหลังนี้มีความสำคัญคือเป็นท้องพระโรงที่ให้ประชาชนมาร้องทุกข์ (Hall of Public Audience)

อาคารอีกหลังคือ อาคารหินอ่อนที่เป็นท้องพระโรงชั้นใน (Hall of Private Audience) ซึ่งกษัตริย์ใช้รับรองแขก ซึ่งตรงนี้มีป้ายคำบรรยายบอกล่ะ เลยทำให้รู้ว่าคืออะไร จุดที่ชอบสำหรับอาคารนี้คือ การแกะสลักลวดลายดอกไม้อย่างสวยงามตามผนังและเสาทั้งหมดในอาคาร อาคารนี้เคยมี Peacock Throne ที่เป็นบัลลังก์ที่สวยงามตกแต่งด้วยทองและอัญมณีมีค่ามากมาย แต่บัลลังก์นี้ได้สูญหายไป เมื่อคราวที่ Red Fort ถูกยึดโดยชาวเปอร์เซีย

เดินกลับออกมาก็มีคนอินเดียมาขอถ่ายรูปแบบจริงจัง เลยคิดว่าควรหยุดให้เข้าถ่ายหน่อย จริงๆระหว่างเดินมาก็มีคนตะโกนมาเรื่อย แต่เราสองคนก็แกล้งทำเป็นตาบอด หูหนวกไม่รับรู้ พอหยุดให้ถ่ายเท่านั้นแหละ คนเริ่มกรูกันเข้ามา ผู้ชายอินเดียเป็นสิบคนมาล้อม พวกเราเลยบอกพอๆไม่ถ่ายแล้ว แล้วก็รีบเดินออกมา ดีที่พวกเค้าน่ารักไม่ได้ตามจนรำคาญ พอบอกพอก็เลิกไป

Swaminarayan Akshardham

ที่ต่อไปคือ Swaminarayan Akshardham เป็นวัดฮินดูใหม่สร้างเสร็จเมื่อปี 2005 เป็นสถานที่ที่สร้างเพื่อการสักการะ การเรียนรู้ด้านศาสนา และวัฒนธรรม การเข้าเยี่ยมชมที่นี่จะไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ และพกอะไรเข้าไปเลย เราเลยเอาของทั้งหมดกองเก็บไว้ในรถ ที่นี่ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม พอเดินเข้าบริเวณวัด เราสองคนก็ตื่นตาตื่นใจมาก สถานที่ใหญ่โตสุดๆ และทุกมุมมีรายละเอียด มีความสวยงามมาก การเดินดูที่นี่ถ้าดูแบบไม่เจาะลึกรายละเอียดก็ไม่ได้ใช้เวลาเยอะ มีทางให้เดินตามง่ายๆไม่ซับซ้อน จุดเด่นที่ถูกใจที่สุดคงเป็นตัววัดทั้งภายในและภายนอก ที่สวยงามสุดๆ โดยภายนอกเป็นหินสีชมพูแกะสลัก ตรงฐานแกะสลักเป็นรูปช้าง และสัตว์ต่างๆ ส่วนภายในเป็นหินอ่อนสีขาวแกะสลักอย่างละเอียดทั้งผนัง เสา และเพดาน ตรงกลางเป็นรูปปั้นของ Bhagwan Swaminarayan ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือหลักของวัดแห่งนี้ ตกแต่งด้วยทอง สวยงามสุดๆ พวกเราไหว้พระ ทำบุญเสร็จ ก็ออกเดินทางต่อ

และก็มาถึงอาหารกลางวันที่ร้าน Indian Accent เป็นร้านอาหารอินเดียที่ติด World’s 50 Best Restaurants 2018 พวกเราสั่งเป็น Chef Testing Menu ของเราเป็นแบบ Vegetarian อาหารอร่อย เหมือนหน้าตาเลยทีเดียว ถึงแม้ราคาจะแพงอยู่บ้าง กินออกมาบวกนู้นนี่ ตกออกมาคนละเกือบห้าพันรูปี แต่ก็ไม่ผิดหวังที่มาลอง

เดินออกมา ผิดเวลากับที่นัด Puran เล็กน้อย เพราะใช้เวลาทานนานกว่าที่คิด คืออาหารไม่ได้ช้า แต่เพราะมีหลายจานกว่าจะกินหมด โชคดีที่มันมีที่จอดรถอยู่แล้วเลยไม่เป็นไร พวกเราเดินทางออกจาก Delhi มุ่งหน้าสู่เมือง Agra เมืองเก่าแก่ที่มีสถานที่สำคัญถูกสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์โมกุลมากมาย ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Islamic ซึ่งสถาปัตยกรรมของราชวงศ์โมกุล เป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมมุสลิม เปอร์เซีย ตุรกี และอินดีย มีจุดเด่นคือ โดม หอคอยเล็กๆที่มุมอาคาร ท้องพระโรงขนาดใหญ่ โครงสร้างอาคารทรงโค้ง และมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามหรูหรา วัสดุที่นิยมจะเป็นหินทรายสีแดง และหินอ่อนสีขาว

Itimad ud Daulah

ใช้เวลาเดินทางเกือบสามชั่วโมง ก็มาถึงจุดเที่ยวต่อไปคือ Baby Taj หรือ Itimad ud Daulah ซึ่งเป็นสุสานของขุนนางชั้นสูง Mirza Ghiyas Beg สร้างขึ้นโดยลูกสาว Nur Jahan ซึ่งเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิ์ Jahangir

โชคดีที่เรามาทัน เพราะเราสองคนเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้เข้าก่อนประตูปิดเลย ภายในมีคนอยู่ไม่มาก เดินเข้าผ่านประตูหินทรายสีแดง ก็จะเจออาคารหินอ่อนสีขาวที่สวยมาก เพราะตัวอาคารมีการแกะสลักฝังหินสีๆ (Pietra dura) เป็นลวดลายที่สวยงามมาก พอพวกเราจะก้าวเท้าขึ้นไปบนสุสาน ก็ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวก สรุปก็คือเค้าไม่ให้ใส่รองเท้าขึ้นไป เราเดินจะเอารองเท้าไปถอดเหมือนคนอื่น แต่คุณลุงที่เฝ้าอยู่กลับส่งเป็นถุงมาให้สวมรองเท้าแทน พวกเราเดินเล่นถ่ายรูปกับกำแพงจนพอใจ เดินเข้าไปจะไปดูข้างในที่น่าจะเป็นที่ตั้งของโลงศพ แต่เดินกันเข้าไปได้สองก้าวก็ต้องกลับออกมา ข้างในมืดมาก แถมมีกลิ่นอับๆ ให้ความรู้สึกว่าจะมีเชื้อโรค แถมมองก็ไม่เห็นอะไร เดินออกมาด้านหลังก็มีซุ้มประตูหินทรายสีแดงซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำ Yamuna แต่พวกเราไม่ได้เดินไปเพราะขี้เกียจ กำลังจะเดินกลับก็มีผู้หญิงอินเดียมาขอถ่ายรูปเหมือนเดิม ทำหน้าที่เสร็จก็เดินกลับมาเอาถุงเท้าไปคืนคุณลุง คุณลุงยื่นมือมาขอเงิน โชคดีมีแบงค์ย่อยติดตัว เลยรอดมาได้

สรุปคือ Baby Taj นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก่อนไปดู Taj Mahal เพราะว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกที่สร้างด้วยหินอ่อนในยุคราชวงศ์โมกุล เพราะก่อนหน้านั้นจะนิยมสร้างด้วยหินทรายสีแดง และมีคนชอบพูดบ่อยๆว่าที่นี่เป็นต้นแบบของ Taj Mahal

พวกเรามีแผนต่อว่าจะไปริมแม่น้ำ Yamuna เพื่อล่องเรือถ่ายรูปกับ Taj Mahal แต่ Puran บอกว่าเค้าไม่อนุญาติให้ล่องเรือแล้ว เลยจบการเที่ยวในวันนี้ไปโดยปริยาย เข้าโรงแรม DoubleTree by Hilton Hotel Agra โรงแรมนี้ถือว่าคุ้มสุดๆในทริป เพราะเลือกโรงแรมราคาสองพันกว่าบาทหมด แต่อันนี้ถือว่าดีเกินราคา จบวันด้วยการกินคุ้กกี้ต้อนรับของโรงแรม เพราะอิ่มจากกลางวันจนกินอะไรไม่ลงแล้ว

 

Day 2 Agra – Jaipur

Taj Mahal

เช้านี้ตื่นมานัด Puran มารับ 6.45 น. กะกันว่าจะไปถึงหน้า Taj Mahal ประมาณ 7 โมง แต่เกิดเหตุกับอาหารเช้าที่สั่งไว้เลยทำให้ช้าไปกว่าที่ตั้งใจ 20 นาที พวกเราสั่ง Chicken Wrap มานั่งกินในรถระหว่างทางไป Taj Mahal เพื่อประหยัดเวลา อากาศตอนเช้าค่อนข้างเย็นประมาณ 16-17 องศา แถมมีหมอกปกคลุมหนา Puran บอกว่านี่คือหมอกมลพิษนะ อย่าไปคิดว่าเป็นหมอกธรรมชาติ โชคดีที่พวกเราพกหน้ากากกันมาคนละอัน เพราะได้ประสบการณ์จากการไปเนปาลที่มีแต่ฝุ่น Puran เป็นแค่คนขับรถ ไม่ได้เป็นไกด์ แต่ก็ชอบที่จะ Brief สั้นๆก่อนจะถึงแต่ละสถานที่ว่าเป็นอะไร และควรทำตัวยังไง Puran พามาส่งที่ลานจอดรถของ Taj Mahal พร้อมนัดแนะเวลาว่าจะมารับในอีกสองชั่วโมง

ลงมาจากรถก็มีไกด์มาต้อนรับ เอาบัตรไกด์มาให้ดู บัตรแข็งดูน่าเชื่อถือ แถมมีราคาไกด์สำหรับคนอินเดียและชาวต่างชาติระบุอยู่ด้วย และบอกพวกเราว่าเดี๋ยวเค้าคิดราคาคนอินเดียให้ที่ 1,450 รูปี พวกเราเลยตกลงจ้าง จากลานจอดรถต้องนั่งรถกอล์ฟเข้าไปด้านใน ไกลพอสมควร พวกเราซื้อตั๋วออนไลน์มาแล้ว เลยไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วอีก ตั๋ว Taj Mahal นี่ควรเก็บไว้ เพราะใช้เป็นส่วนลดกับที่อื่นได้อีก นอกเหนือจากการเป็นประเทศในกลุ่ม BIMSTEC

Taj Mahal เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของจักรพรรดิ์ Shah Jahan ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บพระศพของ Mumtaz Mahal พระมเหสีที่เสียชีวิตลงหลังคลอดทายาทองค์ที่ 14 การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1632 ใช้งบประมาณก่อสร้างที่มหาศาล มีการระดมสถาปนิกและช่างฝีมือมาจากที่ต่างๆทั่วโลก การก่อสร้างใช้แรงงานกว่าสองหมื่นคน และกินเวลายาวนานถึง 22 ปี

พอเดินเข้ามาถึงภายในบริเวณ Taj Mahal จะพบกับประตูทางเข้าหินทรายสีแดงก่อน ไกด์ก็ทำหน้าที่อย่างดี ด้วยการอธิบาย ฟังรู้เรื่องบ้าง ฟังไม่รู้เรื่องบ้าง หน้าประตูซุ้มประตูทางเข้านี้ขอบประตูจะเป็นบทสวดมนต์ที่คัดมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน การตกแต่งรอบๆก็ใช้วิธีการแกะสลัก ฝังหิน มุมมองจากซุ้มประตูนี้ได้รับการออกแบบให้สามารถมองเห็น Taj Mahal แบบไม่เต็มส่วนก่อน พอเดินเข้าไปเรื่อยๆ Taj Mahal ก็จะเริ่มเล็กลงจนมองเห็นทั้งตัวอาคาร ตรงนี้ทุกคนพยายามหยุดถ่ายรูปให้เห็นทั้งซุ้มประตูและ Taj Mahal แต่ความพยายามดูไม่ค่อยจะเป็นผล เพราะหมอกควันพิษปกคลุมหนาแน่นมาก

พอผ่านซุ้มประตูออกมา ความสวยงามและยิ่งใหญ่ของ Taj Mahal ก็โดดเด่นทะลุหมอกออกมาเลย นักท่องเที่ยวมากมาย หลากหลายเชื้อชาติกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ แต่ก็ไม่ได้เยอะมากจนรู้สึกหนาแน่นหรืออึดอัด น่าจะเป็นโชคดีของพวกเราที่คนไม่ได้เยอะมาก พวกเราเดินผ่านสวนที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมโมกุล เรียกว่า Charbagh คือจะเป็นสวนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ภายในจะแบ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อยๆอีก เดินเลาะสวนไปเรื่อยๆ พอมองไปทางซ้ายจะเห็นอาคารหินทรายสีแดงซึ่งไกด์อธิบายว่าเป็นมัสยิด ซึ่งชาวมุสลิมจะสามารถเข้ามาสวดมนต์ได้ในวันศุกร์ที่ Taj Mahal ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้า แถมไกด์ยังเอารูปมาโชว์ด้วยว่าสวยมั๊ย Taj Mahal แบบไม่มีคน เพราะเค้าเป็นมุสลิมเข้ามาได้ตอนวันศุกร์ ไม่แน่ใจว่าเค้าอนุญาตให้เข้าไปข้างในรึป่าว เพราะถามไกด์แล้วเหมือนจะบอกว่าเข้าไม่ได้ ประโยชน์อีกอย่างนึงของอาคารหลังนี้ คือความสวยงามของสถาปัตยกรรม เพราะอาคารหลังนี้จะถูกสร้างเหมือนเป็นเงาสะท้อนของอาคารฝั่งด้านขวาของ Taj Mahal ทำให้เกิดความสมมาตร

เดินต่อมาถึงทางเข้า Taj Mahal ไกด์อธิบายว่าความพิเศษในการก่อสร้างของ Taj Mahal คือ เป็นอาคารที่มีความสมมาตร ไม่ว่าจะมองจากทางไหน ทั้งสี่ด้านจะมีลักษณะเหมือนกันหมด รอบๆอาคารหลักมีหอคอยสี่ด้าน (Minarets) ซึ่งในศาสนาอิสลามจะใช้เพื่อให้คนปีนขึ้นไปเตือนเรียกให้มาทำละหมาด ในส่วนของการออกแบบ เค้าสร้างให้หอคอยนี้เอนออกจากอาคารหลักเล็กน้อย เพราะจะทำให้คนมองเห็นว่าหอคอยตั้งตรงทั้งสี่ด้าน และถ้าเกิดมีเหตุภัยพิบัติที่ทำให้หอคอยถล่ม หอคอยก็จะล้มไปด้านนอก ไม่โดนอาคารหลัก

การเดินเข้าชม Taj Mahal ก็ต้องสวมถุงรองเท้าไว้ด้วย ยิ่งเดินเข้ามาใกล้ ยิ่งเห็นถึงรายละเอียดที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักหินอ่อน แล้วตัดหินสีๆมาฝังเป็นลวดลาย หรือจะเป็นการแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ไกด์บอกว่าหินอ่อนนี้ขนมาจากราชสถานที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหินอ่อนที่ดีที่สุดในอินเดีย นอกจากนี้ไกด์ยังชี้ให้ดูว่าลวดลายต่างๆที่ทำไว้ เวลามองขึ้นไปลายจะมีขนาดใหญ่เท่ากัน ไม่ได้เป็นไปตามปกติที่เรามองของที่ยิ่งไกล จะยิ่งเล็กลง

เดินเข้าไปข้างใน ตรงนี้จะห้ามถ่ายรูปล่ะ ในห้องนี้จะเป็นเสียงสะท้อน ตรงกลางห้องจะเป็นที่ตั้งของโลงศพ 2 โลง สำหรับ Shah Jahan และ Mumtaz Mahal ซึ่งเป็นโลงเปล่า ตัวโลงศพมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ส่วนพระศพจริงอยู่ในห้องด้านล่าง มีข่าวลือที่ชอบพูดกันว่าหลังจากที่ Taj Mahal สร้างเสร็จ Shan Jahan ได้สั่งให้ตัดมือและควักลูกตาของช่างฝีมือเพื่อไม่ให้สามารถสร้างเลียนแบบได้ แต่พอถามไกด์ ไกด์บอกว่าไม่เป็นเรื่องจริง กษัตริย์ใจดี

พวกเราเดินชมกันอย่างเพลิดเพลิน ไกด์ทำงานได้คุ้มกับค่าจ้างมากๆ จุดเด่นของไกด์คนนี้ คือการหาจุดให้พวกเราถ่ายรูป สั่งให้ยืนตรงนั้นตรงนี้ แถมยังมีการกำกับท่าโพสให้ด้วย ตรงไหนคนเยอะก็ไปเข้าคิว ต่อสู้ให้ได้ถ่ายรูปแบบไม่ติดคน ซึ่งถือเป็นของแถม นอกเหนือจากการได้ฟังเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของสถานที่ พวกเราเดินเล่นเสร็จเร็วกว่าเวลาที่นัดกับ Puran ไว้ กลับมาที่จอดรถไม่เจอ เลยให้ไกด์โทรหาให้ รอไม่นาน Puran ก็โผล่มา

Agra Fort

จุดหมายต่อไปคือที่ Agra Fort สถานที่ที่เคยเป็นพระราชวังของราชวงศ์โมกุล โดยในช่วงก่อนสมัยของราชวงศ์โมกุล Agra Fort เป็นเพียงแค่ป้อมปราการ ซึ่งได้ถูกยึดและเปลี่ยนมือผู้มีอำนาจไปหลายครั้ง จนเมื่อถึงสมัยของพระจักรพรรดิ์ Akbar ที่ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ Agra Agra Fort ณ ตอนนัั้นมีความเสื่อมโทรมมาก Akbar จึงให้สร้าง Agra Fort ขึ้นมาใหม่โดยใช้หินทรายสีแดง และถูกใช้เป็นพระราชวังของกษัตริย์โมกุลตั้งแต่ตอนนั้น Agra Fort ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เสร็จเมื่อปี 1573 ซึ่งภายหลังก็ได้ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยของ Shah Jahan โดยได้สั่งให้รื้ออาคารหลายอาคาร และสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนขาวและหินอ่อน

Puran บอกว่าที่นี้เป็นพื้นที่ของทหาร ซึ่งเปิดให้เข้าชมเพียงแค่ 25% เลยให้เวลาพวกเราหนึ่งชั่วโมง พวกเราตัดสินใจว่าไม่จ้างไกด์ ด้วยความคิดว่าเดินดูเองก็ได้ แต่สุดท้ายต้องถือว่าตัดสินใจพลาด เราสองคนเดินเข้าไปใน Agra Fort ผ่านตัวกำแพงสีแดงอิฐ เดินต่อไปตามทางเดินเรื่อยๆจะโผล่มาที่สวน เราก็เห็นมีแต่สวนไม่รู้ว่าอะไร มองไปเห็นมีอ่างหินกลมๆ ก็ไม่ได้สนใจ เลยเดินผ่านเข้าประตูชั้นในไปต่อ

เดินเข้ามาจุดที่สะดุดตาคือ อาคารหลังสีขาว ที่มีลักษณะเป็นซุ้มเสาโค้งเรียงต่อกัน ซึ่งตรงนี้มารู้เอาทีหลังว่าคือ Hall of Public Audience ที่สร้างโดย Shah Jahan ที่แปลกคือตอนแรกสร้างด้วยหินทรายสีแดง แต่เอาปลาสเตอร์มาโบกตอนหลังให้เป็นสีขาวเหมือนหินอ่อน พวกเราใช้เวลาอยู่ตรงนี้นานเลย เพราะมองไปรอบๆ ก็ไม่เห็นมีจุดอื่นให้ดู รอบๆก็มีแต่ทางเดินหินทรายสีแดง ที่สุดทางมีประตูอีกชั้นนึงแต่มีที่กั้นไม่ให้เข้าไป เราสองคนก็เลยใช้เวลาถ่ายรูปกับอาคารหลังนี้อยู๋นาน จนเหลือเวลาอีก 15 นาทีใกล้ถึงเวลานัด เลยคิดว่าเดินกลับออกไปรอดีกว่า

ขาเดินกลับเห็นว่าข้างหลังอ่างหินมีประตู และมีคนเดินออกมามากมาย เลยเดินตามไปดู และก็ได้พบกับความผิดพลาดครั้งใหญ่ ข้างในเป็นที่ที่ให้เข้าชม มีอาคารนู้นนี่ หลายหลัง เดินทะลุไปทะลุมาได้ เราสองรู้ตัวว่าพลาดแล้วที่ไม่ได้มาเดินตรงนี้ ตอนนั้นดูจากสถานที่แล้ว ก็รู้เลยว่าเป็นจุดสำคัญ เราสองคนเดินจ้ำอ้าว พยายามเดินดูให้ครบ โดยแทบไม่ได้หยุดถ่ายรูป เดินแบบได้แต่ดู ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่ล่ะนะ ผลของการไม่จ้างไกด์และไม่ได้ศึกษามาก่อน พวกเราเดินๆจนครบแล้วรีบกลับไปที่นัดพบ ช้าไปประมาณห้านาที รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ดูให้ดีก่อน เลยต้องมารีบๆตอนหลัง

พอกลับมาหาดูเลยรู้ว่าแต่ละจุดที่รีบๆเดินมา มีความสำคัญต่างๆกัน อ่างอาบน้ำเคลื่อนที่ได้ของ Jahangir (Jahangir’s Hauz) ทำด้วยหินแกรนิตชิ้นเดียว ซึ่งเป็นวัสดุที่ยากต่อการแกะสลักมากเพราะแตกร้าวง่าย อ่างอาบน้ำนี้ก็ถูกตั้งอยู่หน้าทางเข้าของ Jahangir Mahal อาคารที่สร้างด้วยหินทรายสีแดง ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของ Agra Fort แห่งนี้ เพราะเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ถูกก่อสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยของ Akbar ต่างจากส่วนอื่นๆที่จะถูกรื้อและปรับเปลี่ยนโดยจักรพรรดิ์ Shah Jahan ตรงนี้ตอนเดินนี่คือไม่ได้ถ่ายรูปเลย เพราะกำลังตื่นตระหนกอยู่ แถมจำได้ว่าเป็นส่วนที่มีซอกเล็กซอกน้อยเดินทะลุไปมาจนงง

โผล่มาอีกที อารมณ์เปลี่ยนเลย เป็นอาคารหลังสีขาวหลายหลัง อาคารหลังแรกที่เจอคือ Khas Mahal เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ภายในแบ่งเป็นห้องๆรวมถึงห้องนอน มีการแกะสลักอย่างสวยงาม และมีหน้าต่างที่สามารถมองออกไปเห็น Taj Mahal ได้ ด้านหน้ามีสวนองุ่น Anguri Bagh เดินต่อไปจะเจอกับหอคอยหินอ่อนแปดเหลี่ยม อาคารนี้สวยงามมากเพราะข้างในถูกแกะสลักอย่างสวยงาม มีบ่อน้ำพุอยู่ด้านหน้าห้อง ซึ่งว่ากันว่า Shah Jahan สร้างให้กับ Mumtaz Mahal และภายหลัง Shan Jahan ได้ถูก Aurangzeb จับมาขังไว้และเฝ้ามอง Taj Mahal จากที่นี่ เป็นเวลาแปดปีจนวาระสุดท้ายของชีวิต

Fatehpur Sikri

ต่อจากนั้นเดินทางต่อไปยังเมือง Fatehpur Sikri ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในยุคของจักรพรรดิ์ Akbar แต่เป็นได้ประมาณ 10 กว่าปี ก็ต้องย้ายกลับ เพราะมีปัญหาขาดแคลนน้ำ มาถึงที่นี่ก่อน Puran ส่งลงก็ได้มีการเตือนไว้ว่าที่จะเต็มไปด้วยคนเร่ร่อน ขอทาน คนขายของ Puran บอกว่าอย่าไปสนใจ อย่าไปคุยด้วย ให้ระวังตัวมากๆ Puran มาส่งที่ลานจอดรถ ลงจากรถปุ๊ป ก็มีไกด์มาเสนอตัวเหมือนเดิม คิดที่ 750 รูปี เราเห็นว่าราคาไม่แพง ก็เลยจ้างไป

จากลานจอดรถก็ต้องเสียเงินนั่งรถบัสเข้าไปไกลอยู่เหมือนกัน ได้บรรยากาศนั่งแออัด เหมือนนั่งรถสาธารณะ ไปถึงก็ไปซื้อตั๋วเข้า รอคิวไม่นาน ก็เค้ามาได้ จุดแรกเป็นสวน และเป็น Hall of Public Audience ไกด์หยุดอธิบายให้ฟังว่า

Akbar ได้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Shaikh Salim Chishti เพราะก่อนหน้านี้ Akbar ไม่มีลูกชายเลย แต่พอมาขอกับนักบุญนี้ Akbar ก็ได้ลูกชายคนแรก คือ Jehangir ที่เกิดจากมหสีที่นับถือศาสนาฮินดู (ตอนนั้น Akbar มีมเหสีที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ด้วย) Fatehpur Sikri เลยสร้างโดยมีอิทธิพลของศิลปะฮินดูผสมกับอิสลาม โดย Fatehpur Sikri แบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นวัง กับส่วนที่เป็นศาสนสถาน

เดินออกมาถึงส่วนที่เป็นวังก่อน ที่นี่ดูกว้างใหญ่มาก มีอาคารหินทรายสีแดงอยู่หลายหลัง ไกด์ไล่พาอธิบายไปทีละอาคาร แถมยังสั่งให้ยืนถ่ายรูปตามแต่ละจุดด้วย การเดินดูที่นี่เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไกด์จะพาเดินไปถึงจุดนึง อธิบาย สั่งให้ยืนตรงจุดเพื่อถ่ายรูปให้ เสร็จเค้าก็จะเดินไปจุดต่อไปเลย คือถ้าเราจะหยุดถ่ายรูปเพิ่ม ก็จะต้องวิ่งตามไกด์ไป

อาคารแรกที่เห็นก็คือ Hall of Private Audience ที่ Akbar ใช้ว่าราชการกับขุนนางต่างๆ ถัดมาเป็นห้องเก็บสมบัติ Ankh Michauli ซึ่งด้านหน้ามี Astrologer’s seat ที่ว่ากันว่าอาจจะเป็นที่นั่งของนักโหราศาสตร์หรือที่นั่งสำหรับขุนนางเพื่อจ่ายค่าแรงให้ข้าราชบริพาร อาคารถัดไปเป็นอาคารสูงห้าชั้น Panch Mahal เป็นที่นั่งชมวิวของผู้หญิงในฮาเร็มของ Akbar ว่ากันว่า Akbar มีผู้หญิงในฮาเร็มกว่าสามร้อยคน และมี Jodha Bai’s Palace ซึ่งเป็นวังให้กับผู้หญิงเหล่านั้น อาคารทุกอาคารดูเผินก็เป็นแค่หินทรายแดง ไม่ได้ดูสวยงามมากอะไร แต่พอเข้าไปดูใกล้ จะมีรายละเอียดการแกะสลักที่สวยงามมากท้งด้านในและด้านนอก

เดินกึ่งวื่งตามไกด์ไปถึงกลางลาน ไกด์สั่งให้นั่งลงบนแท่นถ่ายรูป อธิบายว่าที่เป็นตารางๆนี่เป็นเกมส์กระดานของอินเดียที่เรียกว่า Pachisi โดย Akbar ได้ใช้ผู้หญิงในฮาเร็มเป็นหมากในเกมส์

ต่อมาที่ Anup Talao บ่อน้ำที่ตั้งอยู่ด้านหน้าวังของ Akbar ที่ว่าเป็นจุดที่สวยที่สุดของบริเวณนี้

ไกด์พาเดินต่อมาถึงหลุดออกจากส่วนพระราชวัง เดินมาตามถนนเพื่อไปส่วนของศาสนสถาน ไกด์บอกว่าส่วนต่อไปให้ระมัดระวังมีคนจรจัดและขอทานเยอะ ให้เดินตามติดเค้า อย่าออกไปไกล แค่เห็นทางเข้าก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ประตูทั้งยิ่งใหญ่และสวย ความวุ่นวายเริ่มโผล่มา ไม่ว่าจะเป็นเด็กขอทาน ที่เดินมาขอเงิน คนเดินขายของสารพัดชนิด ซึ่งพวกนี้ถือว่ามีระดับความตามตื้ออยู่ในระดับสิบ คือสามารถเดินตามเราได้เป็นร้อยเมตร ไม่ว่าเราจะทำเฉยๆไม่สนใจ ไม่ตอบ หรือจะตอบไปแล้วว่าไม่เอา หรือถ้าเรายืนอยู่เฉยๆ ไม่หนี พวกนี้ก็จะยืนอยู่กับเรา พูดคำเดิมซ้ำๆเป็นสิบๆรอบ การเดินดูที่นี่เป็นการเดินกึ่งวิ่งที่เร็วยิ่งกว่าส่วนของพระราชวัง เพราะนอกจากจะต้องตามไกด์ให้ทันแล้ว ถ้าหยุดถ่ายรูปตรงไหนแค่แป๊ปเดียว ก็จะมีคนมากวนขอเงินหรือขายของ ตรงนี้ไกด์ก็ช่วยอะไรไม่ได้

ไกด์พาไปถอดรองเท้าวางไว้ แบบไม่รู้ว่าจะหายไม่หาย ก่อนพาเดินเข้าประตู Badshahi Darwaza ที่สมัยก่อนเป็นประตูเฉพาะสำหรับกษัตริย์ที่จะเข้าไปยังศาสนาสถาน เดินเข้ามาต้องตะลึงกับความใหญ่โต บวกกับความงงๆที่ต้องเดินตามไกด์ไปแบบไม่รู้ทิศทาง

ไกด์พาเดินตามทางเดินตามอาคาร แบบงงๆ จนมาถึงจุดโดนหลอก ระหว่างการเดินมาก่อนหน้านี้ ไกด์ก็พยายามจะปูพื้นฐานเรื่องราวมาในระดับนึงแล้วว่า Sheikh Salim Chishti คนที่ทำให้ Akbar มีลูกชายได้ มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงไหน คนที่มาที่นี่สามารถมาขอพรได้สามข้อ ใครมาขอก็จะเป็นจริงหมด แล้วพรนี้ขอเสร็จก็ห้ามบอกใคร ให้เก็บไว้เป็นความลับกับตัวเองไม่งั้นจะไม่เป็นจริง พูดมาอยู่สักสองสามรอบ เราก็ดีใจคิดว่าดีจังมีโอกาสได้มาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทุกอย่างไม่ได้มาแบบฟรีๆ ไกด์พาเดินมาด้านใน ระหว่างเดินก็เห็นคนตั้งขายผ้าอยู่ที่พื้นหลายเจ้า ไม่รู้หรอกว่าผ้าอะไร ไกด์เริ่มอธิบายว่าการจะเข้าไปไหว้ขอพร ต้องซื้อผ้าเพื่อไปถวายด้วย เราสองคนก็มองหน้ากัน เหมือนเริ่มรู้ชะตาชีวิตตัวเอง เดินเข้ามาค่อนข้างลึก จนเงียบสงบ ไกด์ก็มาหยุดที่คนขายผ้าคนนึง บอกว่าคนนี้เป็นครอบครัวของผู้ศักดิ์สิทธิ์คนนั้น ให้เรานั่งลง เราก็รู้สึกแปลกๆไม่อยากนั่ง แต่ตามสไตล์คนแถวนี้ ที่มีความตื้อและชักจูงในระดับสูง เราสองคนก็นั่งต่อหน้าผู้ชายคนนั้น เค้าบอกให้เขยิบเข้ามานั่งใกล้ๆอีก เสร็จก็เริ่มอธิบายว่าการจะไหว้นี่จะต้องมีผ้า มีขั้นตอน คือวางผ้า โปรยดอกไม้ และก็เอาเชือกไปผูกที่หน้าต่าง เราก็ขี้เกียจเสียเวลาเลยถามไปเลยว่าผ้าเท่าไหร่ พอตอบมานี่ช็อคกับราคา ผ้าบางๆตรงหน้า ราคาผืนเล็กบอกสำหรับเด็กราคา 1,500 รูปี ผืนใหญ่สำหรับผู้หญิง 2,500 รูปี พวกเราบอกว่ามันแพงมากเลยนะ เค้าบอกเงินที่ได้จะเอาไปบริจาค บอกว่าเราต้องให้ก่อน พระเจ้าถึงจะให้เรากลับ คือเอาจริงๆไม่ได้ไม่อยากทำบุญ แต่เรารู้สึกว่าการทำบุญมันก็ดูต้องมาจากความสมัครใจของเรา อันนี้มันเหมือนเป็นการมัดมือชก เหมือนพามาหลอก แล้วดูความที่พวกเราเป็นคนขี้เกรงใจ จะลุกเดินหนีก็ไม่กล้า แถมไกด์ก็นั่งเฉยๆไม่ช่วยอะไรเลย สุดท้ายเลยบอกไปว่าเราไม่มีเงินสดแล้วเราจะซื้อแค่ผืนเล็กผืนเดียว เค้าก็บอกว่าไม่ได้นะ ขอพรสองคนก็ต้องสองผืน ไม่งั้นพระเจ้าจะให้พรได้ยังไงนู้นนี่ ตอนนี้ เราก็เริ่มเรียนรู้ใช้ความดื้อดึงตามแบบฉบับพวกเค้า พูดอย่างเดียวว่าไม่มี สุดท้ายเค้าก็ยอม

เดินออกมาผ่านโลงศพที่เรียงรายอยู่ที่พื้นเต็มไปหมด รู้สึกไม่ดีเลย เหมือนเดินเหยียบคนตาย เดินมาจนมาถึงหน้าทางเข้า Jama Masjid มัสยิดขนาดใหญ่ซึ่งเป็นประตูดูยิ่งใหญ่และสวยงามกว่าเดิมอีก ด้านในก็กว้างขวางสวยงามด้วยการตกแต่งแกะสลัก ทั้งตามผนังและเพดาน

จบตรงนี้ก็มาถึงจุดสุำคัญของสถานที่นี้ คือหลุมศพของ Sheikh Salim Chishti เป็นอาคารหินอ่อนแกะสลักทั้งหลัง ข้างในมีความสวยงาม มีการแกะสลักหินเป็นรูปดอกไม้สีสันสวยงาม ตรงกลางมีแท่นบูชา ผู้คนต่างเอาผ้าของตัวเองมาวางตามคิด วางเสร็จก็จะโรยดอกไม้ทับลงไม้ แล้วค่อยเอาเชือกไปผูกที่หน้าต่าง เป็นอันจบพิธีการขอพร ซึ่งในส่วนของด้านในเค้าไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป

เดินตามไกด์ต่อไปถึงประตูสุดท้าย Buland Darwaza หรือประตูแห่งชัยชนะ ประตูนี้ถือเป็นประตูที่สูงที่สุดในทุกๆประตู แถมยังวุ่นวายสุดๆ เพราะมีคนขายของอยู่เต็มไปหมดทั้งตามทางเดินและบันได

เป็นการจบการเที่ยวสำหรับที่นี่ แต่เดี๋ยวก่อนยังไม่จบกิจกรรมหาเงินสำหรับไกด์ ก่อนออกไกด์พาไปแวะร้านขายพวกหินอ่อนแกะสลัก บอกว่าเป็นร้านของครอบครัว ก่อนแวะเราบอกเค้าไปแล้วว่าเราไม่แวะ เพราะเวลาหมดแล้ว เรารีบกลับแล้วก็ไม่ซื้ออะไร เค้าบอกไม่ซื้อไม่เป็นไรแวะดูก่อน เข้าไปของราคาแพงหมด เราหันมองซ้ายมองขวาเห็นที่ติดตู้เย็น น่าจะเป็นของที่ถูกสุดในร้านแล้ว ราคา 300 รูปี เลยซื้อมาคนละอัน เป็นอันได้ออกจากร้าน ตอนจบกับไกด์จบแบบอึนๆ เพราะพวกเราให้เงินไปแค่ 800 รูปี ก็คือเหมือนไม่ให้ทิปเค้าเลย เพราะเรารู้สึกว่าเค้าพาเราไปเสียเงินมาหมดแล้ว ทั้งๆที่ก่อนหน้าก็ตั้งใจว่าจะให้ทิป เพราะเค้าก็ช่วยอธิบายดี ตอนจบเค้าก็เลยดูเซ็งๆ แต่ก็ยืนรอส่งเราขึ้นรถ

ออกมาขนาดเร่งๆก็ใช้เวลาไปประมาณเกือบสามชั่วโมง หิวข้าวสุดๆโชคดีร้านอาหารที่เตรียมไว้อยู่ห่างไปแค่ห้านาที ร้านชื่อ Sher E Punjab เป็นร้านแบบท้องถิ่น แต่ก็ดูขายนักท่องเที่ยว อาหารอร่อย เสียอย่างเดียวคือกินไปพร้อมดูหนูวิ่งไปมาอยู่แถวโต๊ะ

จบจากนี้เดินทางต่ออีกกว่าสองร้อยโล ใช้เวลาเกือบสี่ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่ Jaipur ขับๆรถอยู่ Puran ผู้แสนดี ก็หยุดรถบอกว่าขอเอาขนมให้วัวข้างทาง บอกเป็นน้ำตาลก้อน วัวนี่มีอยู่เต็มถนนที่ผ่านมา นั่งบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง ไม่ได้อยู่แค่ข้างทาง บางทีก็อยู่กลางถนนเลย ขับไปเรื่อยๆ ดีที่มีที่ให้พักเที่ยวกลางทางพอดี

Chand Baori

Chand Baori เป็นบ่อน้ำเก่าแก่ สร้างในช่วงศตวรรษที่แปดถึงเก้ามีอายุมากกว่าพันปี โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยความที่ในแต่ละฤดูกาลน้ำจะขึ้นลงไม่เท่ากันจึงมีการสร้างบันได เป็นชั้นๆเพื่อให้คนสามารถเดินลงไปตักน้ำได้สะดวก Chand Baori เป็นบ่อน้ำที่มีความลึกที่สุดในอินเดีย มีความลึก 20 เมตร มีทั้งหมด 13 ชั้น ประกอบด้วยบันไดทั้งหมด 3,500 ขั้น ที่นี่ได้ใช้เป็นฉากคุกที่ใช้กักขัง Batman ด้วย

จบวันนี้ด้วยการกินสลัดเบาๆ เพราะยังอิ่มอยู่ ที่ร้าน Anokhi Cafe ข้างๆร้านมีขายเสื้อผ้ายี่ห้อเดียวกัน เสื้อผ้าน่ารักมาก เสียดายมีเวลาไม่เยอะ เพราะกลัวจะดึก เลยซื้อมาฝากพ่อกับแม่ได้คนละตัว

คืนนี้โรงแรมก็ดีเหมือนเดิม พักที่ Goden Tulip Essential Jaipur เสียอย่างเดียวคือน้ำไหลไม่แรงเลย

 

Day 3 Jaipur – Jodhpur

ตามแผนตอนเช้า ตั้งใจไว้ว่าจะไปลองกินร้าน Tapri The Tea House แต่ด้วยความที่ Puran มีเตือนไว้ว่าให้โทรไปถามก่อนนะ เพราะว่าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งของเขตราชสถาน ร้านส่วนมากจะปิด พวกเราลงมาให้ทางโรงแรมโทรไปเช็ค ปรากฎว่าไม่มีคนรับ แต่ด้วยความอยากกิน บวกกับลองเรียก Uber ดูแล้วราคาถูกแสนถูก เลยตัดสินใจลองไปดูดีกว่า ร้านเปิด 7.30 น. พวกเราไปถึงก่อนเวลาเปิด ร้านอยู่บนตึก ดูเงียบมาก รั้วปิด ยามที่เฝ้าอยู่บอกให้กลับมาอีกสิบนาที เลยข้ามถนนไปเดินเล่นที่ Central Park มีคนอินเดียมาวิ่งออกกำลังกายกันเยอะอยู่ ถึงเวลาเดินข้ามกลับมา ยามเปิดประตูให้เข้าไป เดินเข้าไปตึกเงียบมาก ขึ้นลิฟต์ไปด้านบนสุด ดีใจมากร้านเปิด เมนูอาหารมีเมนูท้องถิ่นหลายรายการ สั่งมั่วๆมาได้ Aloo Paratha เป็นแป้งแบน กินกับโยเกิร์ต Ghee และ Chutney แล้วก็ Masala Chai Tea อร่อยดี นั่ง Uber กลับมา เจอ Puran รออยู่แล้ว เช้านี้นั่งรถยาวอีกสามร้อยกว่าโล ประมาณหกชั่วโมงได้เพื่อไปที่ Jodhpur ที่มีจุดหมายหลักเพียงแค่ Mehrangarh Fort

พอเริ่มเข้าใกล้เมืองเราบอก Puran ว่าจะแวะไปกินอาหารกลางวันที่ร้านที่เตรียมไว้ชื่อ OTA Cafe Puran พูดตอบกลับมาเราฟังรู้เรื่่องประมาณว่าจะพาไปกินร้านอาหารอินเดีย เราสองคนเลยยืนยันว่าไม่ไปจะไปร้านที่เราเตรียมมา Puran เลยบอกโอเค แล้วแต่พวกเรา Puran ไม่รู้ทางเลยบอกให้เราใช้ GPS คือตั้งแต่นั่งรถมานี่ Puran ขับพาไปทุกที่เองตลอด ไม่เคยพาหลง และไม่ต้องใช้ GPS ด้วย บอกไปบอกมาเพิ่งรู้ว่า Jodhpur เป็นเมืองเก่า ที่จะมีบางส่วนที่รถเข้าไปลำบาก เพราะว่าเป็นถนนเล็กๆ GPS นำทางมาสุดที่กำแพง บอกให้ตรงไปแต่รถเข้าไม่ได้ Puran ก็พาอ้อมไป แล้วพูดแนวว่ารถเข้าไม่ได้ เดี๋ยวเค้าจะจอดรถให้ตรงที่ที่จอดได้ แล้วให้เราเดินกันไปเอง

พวกเราลงจากรถ ดูใน Google Maps คือต้องเดินไปอีก 700 เมตร ตรงที่ Puran ปล่อยให้เราลงดูไม่ค่อยปลอดภัย คือทางเป็นตรอกซอกซอย มีผู้ชายเป็นกลุ่มๆท่าทางน่ากลัวอยู่ตลอดทาง เดินไปเดินมาเริ่มเกิดความกังวลว่าจะหลงทาง แต่ก็เดินไปจนถึงร้าน ปรากฎว่าร้านปิด เห็นมีร้านชื่อ White House อยู่ข้างๆเลยเดินไปเปิดประตูดู มีเด็กตะโกนมาจากด้านบนบ้านว่าร้านปิด เราเลยตะโกนไปว่ามีโทรศัพท์มั๊ย ช่วยโทรหาคนขับรถหน่อย เด็กๆบอกว่ามีแล้ววิ่งลงมาหา มีกันสี่คน ตอนแรกเพื่อนเราก็กลัวว่าเด็กจะมาหลอก ประกอบกับพวกเค้าก็ไม่ได้ฟังเรารู้เรื่อง 100% กว่าจะรู้เรื่องก็ต้องคุยอยู่นาน ระหว่างนั้นเพื่อนก็อยากให้เดินกลับเอง เพราะว่าจำทางได้ แต่เรารู้สึกว่าให้เค้าช่วยดีกว่า เราอยากให้ Puran มารับ เพราะเรากลัวว่าถ้าไปหลงอยู่ระหว่างทางต้องแย่แน่ๆ เพราะมีแต่ผู้ชายท่าทางน่ากลัว สุดท้ายโชคดีที่รู้เรื่อง เด็กช่วยโทรศัพท์ไปหา Puran ตามเบอร์ที่เค้าให้ไว้ ตอนแรกเราก็คิดว่ามาง่ายๆเพราะร้านอยู่ใกล้กับบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นจุดสังเกตุได้ง่าย Puran ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะมาหาพวกเรา

เด็กๆน่ารักและมีน้ำใจมาก ตอนแรกพอเราคุยโทรศัพท์เสร็จปุ๊ปก็รีบยื่นเงินให้เค้าเลย ทุกคนตอบพร้อมกันว่าไม่เอา เรายืนยันว่าจะให้ก็ไม่ยอมเอา เสร็จบอกพวกเราว่าให้ยืนอยู่กับพวกเค้า แล้วยืนอยู่เป็นเพื่อนพวกเราเกือบสิบนาทีจน Puran มา พอ Puran มา เพื่อนเราก็อยากจะเอาขนมให้เค้า เด็กๆก็ไม่เอาโยนขนมกลับเข้ามาในรถ ส่วน Puran ทำท่าเหมือนเด็กพวกนี้จะมาหลอกรีบปิดกระจกฝั่งเรา ส่วน Puran คุยกับเด็ก เดาๆดูว่าน่าจะถามทาง พอคุยกับเด็กเสร็จ ออกรถ ก็มาพูดกับพวกเราเหมือนน้อยใจ ว่าบอกแล้วว่าจะมาทำไม วันนี้เลือกตั้งร้านปิด ร้านที่เค้าจะพาไป เค้าก็ไม่ได้ค่าคอมอะไร แค่อยากจะพาไปกินข้าว จับใจความกันไปมา เลยเข้าใจว่าเค้าคงเตือนเราก่อนหน้าแล้ว แต่พวกเราดันฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมไปร้านที่เค้าบอก เพราะคิดว่าเค้าจะพาไปหลอก พวกเราไม่ได้คิดอย่างงั้นเลย แค่อยากมาร้านนี้ เพราะเตรียมมาแล้ว จะอธิบายเค้าก็คงไม่เข้าใจ Puran ดูน้อยใจมากจนพวกเรารู้สึกผิด แถมตอนออกมายิ่งเข้าใจ ถนนแถวนี้แคบมาก รถแทบจะผ่านไม่ได้ แถมยังมีรถสวนไปมาติดขัดตลอด เค้าคงไม่อยากเข้ามาเพราะกลัวรถเป็นอะไร แถมเค้าดูไม่ค่อยรู้ทางในเมืองนี้ด้วย

Puran ขับมาจนถึง Jai Pol ประตูทางเข้าหลักของ Mehrangarh Fort เข้าใจว่าคงงอนจริง เพราะไม่พูดถึงเรื่องข้าวกลางวันอีกเลย คงเป็นการทำโทษพวกเรา พามาส่งโดยไม่ให้กินข้าว แถมพอมาถึงไม่มีการ Brief หรือพูดเตือนอะไรเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา พอเราถามว่าจะมาเจอกันกี่โมง ก็บอกว่าแล้วแต่พวกเรา อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ You happy, I happy โถ น่าสงสารจริงๆ พวกเรารู้สึกผิดแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

Mehrangarh Fort

Mehrangarh Fort ดูสูงและใหญ่โตมาก ซึ่งถ้าดูตามขนาดก็ใหญ่จริงล่ะ ป้อมตั้งอยู่บนเนินเขาหินที่อยู่สูงจากพื้นกว่า 120 เมตร และมีกำแพงโดยรอบสูงเกือบ 40 เมตร พวกเราลงจากรถ

เดินไปซื้อตั๋วมาพร้อมกับ Audio guide ขี้เกียจฟัง เลยไม่ได้เอามา ที่นี่มีขายตั๋วพร้อมไกด์ด้วย แต่ด้วยความหวั่นใจว่าจะโดนพาไปหลอกซื้ออะไรอีกรึป่าว เลยไม่ได้จ้าง เดินไปนิดเดียว โชคดีมากมีคาเฟ่อยู่ เลยตัดสินใจซื้อแซนด์วิชนั่งกินแก้หิวก่อนเลย

กินเสร็จเดินต่อไป เห็นทางขึ้นสูงชัน นึกถึงป้ายขายตั๋วขึ้นลิฟท์ เลยเดินย้อนกลับไป ไปถึงหน้าลิฟต์คิดว่าจะต้องจ่ายเงิน ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ก็ให้เข้าไปไม่คิดตัง ตอนต่อคิวขึ้นลิฟท์ ถึงรู้ว่าทุกคนเค้าจ้างไกด์กันหมด ไม่รู้คิดผิดอีกรึป่าวที่ไม่ได้จ้างไกด์ แต่ที่แน่ๆน่าจะคิดถูกที่ขึ้นลิฟต์มา ลิฟต์จอดด้านบนสุดเป็นลานกว้างมองลงไปเห็นวิวเมืองด้านล่าง แดดจ้าสุดๆ ถ่ายรูปมามองแทบไม่เห็นเมืองด้านล่าง

Mehrangarh Fort ขึ้นชื่อว่าเป็นป้อมเก่าที่มีความสมบูรณ์ และถือว่าเป็นป้อมที่ได้รับการดูแลที่ดีที่สุดในอินเดีย ป้อมถูกสร้างโดยกษัตริย์ Rao Jodha ราชปุต เผ่า Rathore ในปี 1459 เมื่อ Rao Jodha ย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ และตั้งชื่อเมืองตามชื่อของตัวเองว่า Jodhpur ส่วนชื่อของป้อมมีความหมายว่า สุริยเทพ ซึ่งเป็นเทพที่ราชวงศ์นับถือ

มีตำนานเล่าว่าในช่วงเริ่มแรกของการสร้างป้อม กษัตริย์ได้ทำการไล่ฤาษีตนนึงออกจากพื้นที่ จึงถูกฤาษีตนนั้นสาปแช่งให้พื้นที่นี้ขาดแคลนน้ำ เป็นผลให้กษัตริย์ต้องทำพิธีถอนคำสาปด้วยการฝังคนทั้งเป็น โดยความสมัครใจของชายชื่อ Raja Ram Meghwal และเรียกให้นักรบหญิง Karni Mata of Deshnok มาทำพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อความรุ่งเรือง การกระทำนี้ไม่รู้ว่าได้ผลหรือเปล่าแต่ป้อมนี้แม้ว่าจะถูกโจมตี และถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุลในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลแผ่ขยายอำนาจไปทั่วอินเดีย แต่สุดท้ายป้อมนี้ก็กลับมาอยู่ในมือของเผ่า Rathore จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมือง Jodhpur ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะ Jodhpur เป็นเมืองที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย Mehrangarh Fort ถูกเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดย Maharaja Gaj Singh II ในช่วงหลังจากที่ทางการได้ยกเลิกระบบการจ่ายเงินเดือนให้กับราชวงศ์ต่างๆในอินเดียในปี 1971 ทำให้ราชวงศ์ต่างๆเริ่มเอาวัง เอาป้อมตัวเองมาเปิดเป็นแหล่งท่องที่ยวบ้าง เป็นโรงแรมบ้าง

ที่นี่ทางเดินจะถูกกำหนดไว้ แบบให้เราเดินตามทางไปเรื่อยๆ ออกข้างนอกบ้าง เข้าข้างในบ้าง ได้ดูทั้งสถาปัตยกรรมภายนอกของอาคาร ซึ่งดูแปลกตา มีทั้งหินสีขาว หินสีอิฐอ่อนแกะสลักสลับกันไป ได้ดูการตกแต่งภายในของแต่ละห้อง พิพิธภัณพ์ของใช้ ของสะสมต่างๆของราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นพวกเสื้อผ้า ภาพวาด อาวุธ เปลเด็ก ห้องที่จัดแสดงเปลเด็กนี่เป็นห้องที่ประทับใจ เพราะเปลเด็กค่อนข้างใหญ่ รูปทรงแปลกตา แถมมีการตกแต่งหรูหรา เสียดายเดินๆมา คนเยอะขี้เกียจถ่ายรูป แถมผนังห้องนี้ (Jhanki Mahal) แกะสลักเป็นรูเล็กๆสามารถมองลงไปเห็นลานด้านล่างได้ ซึ่งในอดีตเอาไว้ให้พวกผู้หญิงในวังนั่งเล่น และสามารถแอบดูกิจกรรมที่เกิดขึ้นในลานด้านล่างได้

ห้องด้านในมีการตกแต่งอย่างสวยงาม การถ่ายรูปด้วยเลนส์ฟิกซ์ ทำให้ไม่สามารถเก็บความสวยงามของห้องมาได้ครบอย่างงี้นี่เอง ห้องที่เป็นไฮไลท์มี Sheesh Mahal (วังกระจก) เป็นห้องนอนของกษัตริย์ตกแต่งด้วยแผ่นกระจกเต็มไปหมด Takhat Vilas เป็นอพาร์ทเมนท์ของกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ตกแต่งด้วยกระจกสีๆ มีของตกแต่งห้องจากเพดานให้ความรู้สึกเหมือนวันคริสต์มาส อีกห้องที่ได้เดินดูคือ Moti Mahal (วังมุก) ได้ชื่อมาจากผนังของห้องที่ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ผสมกับเปลือกหอย โดยห้องนี้มีระเบียงลับให้ราชินีสามารถแอบฟังเรื่องราวต่างๆเวลากษัตริย์ออกราชการได้ด้วย

ห้องที่ชอบที่สุดคือ Phool Mahal (วังดอกไม้) เป็นห้องปาร์ตี้ของกษัตริย์ มีรายละเอียดการตกแต่งอย่างสวยงาม มีสีสันหลากหลาย และมีสีทองตัดให้ดูหรูหรา ตรงขอบเพดานเป็นรูปของกษัตริย์และลูกๆ

เดินออกมาใกล้จะจบในส่วนของการเยี่ยมชมจะพบกับลานกว้างสีขาว ตรงนี้มองจะล้อมรอบด้วยอาคารสีขาวแกะสลักอย่างสวยงาม เป็น Zenana Deodi วังของราชินี ถัดไปมีประตูภาพวาดสวยงามให้พวกเราหยุดถ่ายรูปเล่นด้วย

ก่อนจบส่วนของด้านในมีวัดอยู่ด้วย แต่พวกเราไม่ได้เข้าไปเพราะกลัวรองเท้าหาย เดินทะลุออกมาส่วนของด้านนอก เดินตามทางไปเรื่อยๆจนถึงกำแพงของป้อม มองไปจนสุดทางจะเห็นเจดีย์อยู่เป็นวัด Chamunda Mataji ที่เป็นที่ประดิษฐานของ Goddess Durga ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาว Jodhpur พวกเราเดินเรื่อยๆไป ก่อนจะสุดทางก็มีจุดให้ถอดรองเท้าทิ้งไว้ นอกจากจะได้ไหว้พระแล้ว ยังมีไฮไลท์อีกอย่างคือ จะมีช่องเล็กๆให้นั่งลงชมวิวได้ วิวตรงนี้สวยมากๆ เห็นเมืองสีฟ้าสุดลูกหูลูกตา

สองคนเดินกลับมาตั้งใจจะเดินไป Fattehpol Gate ประตูอีกด้านนึงที่เค้าบอกว่าเป็นจุดชมวิว เดินไปเดินมา ทางค่อนข้างไกล แถมเริ่มเย็นเกือบหกโมงแล้ว พวกเราเลยตัดสินใจหยุดถ่ายรูปตรงที่เค้ามีให้เล่น Zip-line แล้วก็เดินกลับ ขากลับมาได้มองเห็นความยิ่งใหญ่ของป้อมอีกครั้ง ดูก็ยังนึกไม่ออกว่าส่วนไหนที่เป็นฉากในหนัง Batman

ป้อมนี้เป็นป้อมที่เราชอบที่สุดในทริปเลย ชอบวิธีการจัดการของป้อมด้วย ข้างในสะอาด เป็นระเบียบ ไม่มีใครมายุ่งวุ่นวาย หรือขายของให้รำคาญใจ แถมการจัดทางเดินให้เยี่ยมชมก็เดินตามได้ง่ายๆไม่สับสน ตอนออกมาเลยค่อนข้างมั่นใจว่าไม่พลาดอะไรที่สำคัญแน่ๆ แต่เอาเค้าจริงๆ พอกลับมาดู ก็รู้ว่ามีของไฮไลท์ที่เราพลาดไป ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บพระที่นั่ง (Elephant Howdah Gallery) หรือห้องสมบัติ (Daulat Khana Gallery) แล้วก็ผนังที่มีรอยฝ่ามือของนางกำนัลหลายสิบคน ที่กระโดดเข้ากองไฟตายตามกษัตริย์ที่เป็นสามีเมื่อเสียชีวิต ตามประเพณี Sati ของราชปุตซึ่งภายหลังถูกห้ามเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง

ขึ้นรถกลับมา Puran ดูจะหายงอนแล้ว เจอหน้าพวกเราโบกมือยิ้มแย้มแจ่มใส พวกเราเอากระเป๋าออกมาจัดใส่กระเป๋าใบเล็ก เพราะ Puran บอกว่าจะไม่เข้าไปส่งพวกเราถึงหน้าโรงแรม เพราะโรงแรมพวกเราอยู่ในเขตเมืองเก่า Puran น่าจะกลัวถนนเล็กๆของเมืองนี้มาก พอจัดกระเป๋าเสร็จ Puran ขับพาเราเข้าไปในเมือง แล้วก็จัดแจงบอกให้พวกเรานั่งรอในรถ เสร็จออกไปเดินหารถตุ๊กตุ๊ก ก่อนส่งพวกเราขึ้นรถตุ๊กตุ๊กก็จัดแจงสั่งนู้นสั่งนี้ด้วยความเป็นห่วงตามสไตล์ของเค้า บอกว่าพรุ่งนี้ให้รอหน้าโรงแรม แปดโมงคนขับรถตุ๊กตุ๊กคนเดิมนี้จะไปรับเรามาส่งกลับหาเข้าที่ตรงนี้ คิดค่ารถขาละร้อยรูปี แถมบอกว่าอยู่ในเมืองก็ให้ระมัดระวังตลอดเวลาด้วยนะ รู้สึกดีใจที่ Puran หายงอนซะที

การนั่งรถตุ๊กตุ๊กที่นี่ถือเป็นประสบการณ์ระทึกใจอย่างนึง ถนนหนทางก็ไม่ดี ขรุขระ โคลงเคลง รถก็เยอะ คนก็เยอะ ทางก็แคบ โขยกเขยกกันอยู่พักใหญ่กว่าจะถึงโรงแรม ถึงโรงแรมคนขับรถตุ๊กตุ๊กพูดอังกฤษไม่ได้ แต่มีความรับผิดชอบขนาดที่เดินเข้ามาส่งที่ล็อบบี้โรงแรม พร้อมกับบอกเบอร์มือถือตัวเองให้กับโรงแรมไว้ เราสองคนอุ่นใจสุดๆ

โรงแรมที่พักวันนี้ชื่อ Krishna Prakash Heritage Haveli เจ้าของโรงแรมออกมาต้อนรับ พูดภาษาไทยรัวๆใส่เป็นประโยค บอกว่าเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เอแบค โรงแรมอยู่ได้โอเค สะอาด เก่านิดหน่อย แต่รับได้ เพราะเค้าก็คิดราคาไม่แพง ห้องน้ำเป็นปัญหาเหมือนเดิม คือใช้หัวแบบ Rain shower แต่น้ำไหลเอื่อยสุดๆ แต่มีถังกับขันเอาไว้ให้ สุดท้ายก็รองน้ำอาบเอา

เก็บของเสร็จเดินไปที่หอนาฬิกาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรม ทางเดินไปทั้งวุ่นวาย ทั้งสกปรก ขยะเกลื่อนพื้น ไม่มีความเป็นระเบียบใดๆเลย Ghanta Ghar หอนาฬิกาเก่าแก่ ตั้งอยู่กลางตลาด Sardar มีของขายหลายอย่าง แต่ไม่น่าเดินเลย ของแบอยู่กะพื้น ตามพื้นมีแต่ขยะเกลื่อนกลาด กลิ่นรอบๆก็ไม่ค่อยสะอาดสักเท่าไหร่ เราอยู่กันแป๊ปเดียว ก็เดินต่อไปที่ร้านอาหาร

เดินต่อไปอีกไม่เท่าไหร่ ก็ถึงร้านอาหาร Stepwell Cafe ร้านนี้บรรยากาศดี มองเห็นวิวบ่อน้ำ Toorji Ka Jhalra อาหารที่นี่ก็รสชาติดี เหมาะกับเป็นที่ผ่อนคลายหลังจากเดินเหนื่อยมาทั้งวัน ร้านรอบๆนี้ บรรยากาศดีหมด ต่างจากตรงอื่นๆของเมืองที่ผ่านมา เข้าใจว่าเป็นร้านที่ทำมาขายนักท่องเที่ยวทั้งหมด เลยดูสวยแตกต่าง

กินเสร็จกลับมาชมวิวป้อมจากดาดฟ้าโรงแรม ก่อนเข้านอนด้วยความเหนื่อย

 

Day 4 Jodhpur – Jaipur

เช้านี้ตื่นมากินข้าวเช้าแบบบุฟเฟต์ของโรงแรม กินเสร็จก็มาเดินเล่นดูเมืองสีฟ้า เมืองสีฟ้าที่เห็นจากข้างบนว่าสีฟ้าสวยงาม พอมาอยู่ในเมือง ก็ไม่ได้ดูฟ้าสวยขนาดนั้น เมืองค่อนข้างจะสกปรก มีกลิ่น ถนนเต็มไปด้วฝุ่นและขยะ บ้านสีฟ้าที่เคยดูในรูปว่าสวย ก็เป็นแค่การเลือกถ่ายของคนที่มาเที่ยวเท่านั้น

คำถามที่ทุกคนสงสัยว่า ทำไมบ้านใน Jodhpur จะต้องเป็นสีฟ้า สรุปได้ว่ามีหลายคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้คนนับถือพระศิวะ จึงใช้สีฟ้ามาทาบ้าน เพราะสีฟ้าเป็นสีของพระศิวะ โดยตามตำนานร่างของพระศิวะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าจากการช่วยโลกด้วยการกลืนยาพิษที่อยู่ในมหาสมุทร หรือว่าจะเป็นทาสีฟ้าเพื่อแบ่งชั้นวรรณะ เพราะสีฟ้าเป็นสีของวรรณะพราหมณ์ ผู้ที่มีอยู่อาศัยที่เป็นวรรณะพราหมณ์ก็จะทาบ้านสีฟ้าเพื่อแบ่งแยกบ้านตนเองออกจากคนวรรณะอื่น หรือจะเป็นการทาสีฟ้าเพื่อทำให้บ้านเย็น หรือป้องกันปลวกและแมลง

เดินเล่นเสร็จกลับมาที่โรงแรม รอจนถึง 8.15 น. ตุ๊กตุ๊กที่นัดไว้ก็ไม่มา เราให้ Reception ช่วยโทรหาตามเบอร์ที่ให้ไว้ ปรากฎว่าไม่มีคนรับ เราเลยให้เค้าโทรหา Puran สรุปว่าพวกเราเรียกรถตุ๊กตุ๊กคันใหม่ เพื่อพาไปหา Puran

Umaid Bhawan Palace

จุดต่อไปก่อนออกจาก Jodhpur เราแวะไปที่ Umaid Bhawan Palace พวกเรามาถึงก่อน 15 นาที เลยนั่งรอกันในรถ พอถึงเก้าโมง ยามก็เปิดให้รถผ่านเข้าไป

Umaid Bhawan Palace เป็นพระราชวังส่วนตัวที่ใหญ่เป็นอันดับหกของโลก มีห้องทั้งสิ้น 347 ห้อง ถูกสร้างโดย Maharaja Umaid Singh ราชปุตเผ่า Rathore โดยเริ่มสร้างในปี 1929 ในช่วงเวลาที่เหล่าราชวงศ์ไม่นิยมจะอยู่ในป้อมกันแล้ว ว่ากันว่าพระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากความตั้งใจดีของกษัตริย์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความอดอยากของชาวเมืองจากภัยแล้งนานกว่าสามปี จึงจ้างประชาชนมาทำงานสร้างพระราชวังให้มีรายได้ พระราชวังถูกออกแบบจาสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยใช้เวลาสร้างกว่า 14 ปี ปัจจุบัน พระราชวังแห่งนี้แบ่งออกเป็นที่อยู่อาศัยของราชวงศ์ โรงแรม และพิพิธภัณฑ์

ส่วนที่พวกเราเข้าชมก็คือส่วนของพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงประวัติ และข้าวของเครื่องใช้ของคนในราชวงศ์ ที่นี่ภายนอกดูยิ่งใหญ่และสวยงาม แต่ข้างในมีข้าวของอยู่ไม่เยอะ เดินดูไม่นานก็หมด

ดูเสร็จก็ได้เวลาเดินทางไกลกลับ Jaipur ทางวิ่งระหว่างเมืองส่วนใหญ่สภาพค่อนข้างดี ถนนมีขรุขระบ้าง แบบรับได้ รถก็ไม่ได้ติดมาก ทางส่วนใหญ่เป็นไฮเวย์ จะมีรถติดหน่อยตรงช่วงด่านจ่ายเงิน บนไฮเวย์จะเจอรถบรรทุกเยอะ ด้านท้ายรถบรรทุกก็จะเขียนว่า Horn Please, Blow Horn คือคนที่นี่จะชอบบีบแตรกันมาก เราขับรถมาทั้งชีวิตยังบีบแตรไม่เท่าเค้าบีบนาทีนึงเลย แถมการบีบก็บีบแบบสะใจ ปี๊น ปี๊น ปี๊นนนน แบบยาวๆ ตลอดทางเลย ยังถาม Puran เลยว่าไม่ลงมาต่อยกันบ้างหรอ Puran บอกที่อินเดียเสียงแตรแปลว่า I Love You

ขับมาจนประมาณเกือบบ่ายสอง Puran ก็จอดรถ ฟังไม่ทันอีกแล้วว่าให้หยุดทำอะไร พวกเราเลยลงไปเข้าห้องน้ำ เข้าเสร็จมายืนรอแบบเก้ๆกังๆ เริ่มจากสั่งชามากินก่อน สักพักดูท่าว่า Puran จะพักอีกนาน เลยสั่ง Chicken Briyani มาแบ่งกันกิน ครั้งนี้ทำตาม Puran แต่โดยดี เพราะกลัวโดนงอน จริงๆตอนแรกกะจะไปแวะที่ Pushkar แต่ดู Puran ไม่อยากไป เพราะมันต้องอ้อมไปอีกกว่าชั่วโมง แถมถ้าจะไปก็ต้องตื่นเช้าขึ้นอีก ร้านที่ Puran พามาแวะ นี่ก็เหมือนเป็นภาคบังคับของคนขับรถ ทุกคนก็ดูจะพาลูกทัวร์ของตัวเองมาแวะตรงนี้ จะมีร้านแนวๆนี้อยู่ตามไฮเวย์อยู่หลายร้าน เป็นร้านขายชา ขายอาหาร มีที่นั่งในสวน Puran บอกว่าถ้าเค้าพามา เค้าก็จะได้กินชากับขนมฟรี

กินเสร็จออกเดินทางต่อรถเริ่มติดเป็นช่วงๆ ประมาณจะบ่ายสองกว่า Puran ถามขึ้นมาบอกว่า Amer Fort ใกล้จะปิดแล้ว พวกเราไปกันพรุ่งนี้มั๊ย เราดูใน Google Maps บอกว่าถึงประมาณสี่โมง เลยบอก Puran ว่าจะไปวันนี้เลย และด้วยเข้าใจว่าตั๋วขายถึงห้าโมงเย็น หลังจากนั้นจะอยู่ในป้อมต่อได้ Puran นั่งไปเรื่อยๆรถก็ติดไปเรื่อยๆ เวลาที่ Google Maps คำนวณเริ่มห่างออกไป Puran ขับรถแซงไปแซงมา ไม่เหมือนกับทุกวัน ที่ขับดีมาตลอด เราก็คิดในใจว่าเวลายังเหลือสบายๆ นั่งไปนั่งมาเหมือนรถติดกว่าที่คิด เวลาที่คิดว่าเหลือเริ่มน้อยลง Puran หยุดแวะจอดรถเติมน้ำมัน เราก็เหลือบไปดูน้ำมันเหลือตั้งครึ่งถัง มาเติมทำไม มันใช่เวลามั๊ยเนี่ย นั่งๆไปสักพัก เราก็เริ่มเห็นประตู Puran บอก Welcome to Pink City

ที่จุดนี่แหละเริ่มเห็นถึงหายนะ พวกเรามาถึงประมาณสี่โมงนิดหน่อย ระยะทางจะถึง Amer Fort อีกแค่ประมาณ 7 กม. แต่รถข้างหน้านี่คือติดสุดๆ ติดแบบที่ไม่เคยติดมาก่อน คือรถใน Pink City หนาแน่นมาก บวกกับทางกำลังก่อสร้างรถไฟใต้ดิน รถเลยติดแบบขยับไม่ได้ จุดที่พีคที่สุดคือตรงวงเวียน ไม่แค่ว่ารถจะขยับไม่ได้ ยังมีทั้งคน มอเตอร์ไซด์ สามล้อ รถเข็น พยายามจะแทรกตัวไปมา บวกกับเสียงแตรที่ดังไม่หยุด จุดนี่คือรู้สึกเครียดจนปวดหัวเลย แต่คนที่เครียดกว่าน่าจะเป็น Puran คือ เค้าดูหงุดหงิด มีการด่าบ่นรถคันนู้นคันนี้อยู่เป็นระยะๆ สลับกับเสียงถอนหายใจ ทั้งๆที่ไม่เคยเป็นเลย พอหลุดออกจากตรง Pink City ได้ รถก็หายติด Puran ขับแซงไปมา ประหนึ่งเราอยู่กันใน Fast and Furious มาถึง ตอนสี่โมงเลยครึ่งไปนิดนึง เราเริ่มเข้ามาสู่ Amer Fort ทางเริ่มเป็นทางขึ้น วนไปเรื่อยๆ Puran ขับเร็วมาก และด้วยความเข้าใจของ Puran คือมันปิดห้าโมง คือเค้าบอกว่าเดี๋ยวถึงแล้วไปซื้อตั๋วนะ พวกเรามีเวลาอยู่ในนั้นน่าจะ 10-15 นาที Puran ขับมาจนมาถึงทางแคบๆ ไม่มีรถเลย แล้วเค้าก็พูดมาว่าทางนี้เป็น One way But I do it for you guys น่ารักสุดๆ พยายามมาตลอดทางเพราะอยากให้พวกเราไปทัน พวกเราเห็นความสูงแล้ว โชคดีมากที่ Puran ขับรถขึ้นมาให้ ถ้าต้องเดินมาจากข้างล่างนี่ เป็นชั่วโมงน่าจะยังไม่ถึง วนมาจนใกล้จะถึง รถติดสุดๆ เวลาเหลืออยู่แค่ 15 นาทีจะห้าโมง Puran บอกว่าให้ลงจากรถ รีบไปที่ที่ขายตั๋วนะ พวกเราลงจากรถ วิ่งขึ้นทางชันไปประมาณสองร้อยเมตรจนถึงที่ซื้อตั๋ว สุดท้ายก็สำเร็จ พวกเราซื้อตั๋วได้ท้น พอซื้อตั๋วได้เสร็จพวกเราวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนบ้า เพราะกลัวดูไม่ทัน

Amer Fort

Amer Fort ถูกสร้างขึ้นในปี 1592 โดย Raja Man Singh I ราชปุตเผ่า Kachawaha จากซากป้อมปราการเก่าในศตวรรษที่ 11 ซึ่ง ณ ขณะนั้น Raja Man Singh I โดยสมัยนั้น Amer เป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน และสวามิภักดิ์ต่อจักรพรรดิ์ Akbar ตัวป้อมได้ถูกสร้างและตกแต่งเพิ่มเติมมาเรื่อยๆโดยกษัตริย์ที่ครองราชสมบัติต่อมาอีกสามพระองค์ จนกระทั่งปี 1727 ที่เมืองหลวงถูกย้ายไปที่ Jaipur

จุดแรกเข้ามาจะเจอลานกว้างๆ (Jaleb Chowk) ว่ากันว่าเป็นที่รวมพลของกองทัพทหาร อันนี้มาถึงไม่ได้หยุดเลย วิ่งขึ้นไปด้านบนต่อทันที พอขึ้นด้านบนจะเป็นลานกว้างลานที่สอง มองออกไปจะเห็น Jaleb Chowk ด้านล่าง ถ้ามองออกจากตัวป้อมไปจะเห็นกำแพงป้อมอยู่ตามสันเขายาวสุดลูกหูลูกตา ไม่รู้ว่าอันไหนเป็นกำแพงของ Amer Fort เอง หรืออันไหนเป็นของอีกสองป้อม Jaigarh Fort กับ Nahagarh Fort ที่อยู่ใกล้ๆกัน ณ จุดนี้ เริ่มสังเกตเห็นว่าคนยังอยู่กันเต็มไปหมด เลยโล่งใจ เดินดูได้ตามสปีดปกติ

ที่ลานที่สองนี้ เข้ามาก็เหมือนกับทุกที่ คือจะเจอท้องพระโรง Hall of Public Audience ก่อน เป็นอาคารที่มีหลายๆเสา เสาของอาคารมีสองวัสดุ ทั้งหินอ่อน และหินทรายแดง แต่ที่สะดุดตาจะป็นประตู Ganesh Pol ที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม โดยตรงกลางประตูจะมีรูปของพระพิฆเนศอยู่ ประตูนี้เป็นประตูทางเข้าที่จะนำไปสู่ที่ประทับส่วนพระองค์ของกษัตริย์ในส่วนถัดไป ตัวประตูมีบานแกะสลัก เพื่อให้ผู้หญิงในวังสามารถแอบดูกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายนอกได้ ตรงนี้ก็เป็นจุดที่คนมายืนต่อคิวถ่ายรูปกับซุ้มข้างๆของประตูเยอะ เราสองคนก็เลยไม่พลาดที่จะร่วมต่อคิวด้วย

เดินทะลุ Ganesh Pol เข้าไปเป็นลานส่วนที่สาม เป็นสวนแบบโมกุล ตรงกลางเป็นรูปดอกบัว (Aram Bagh) มีอาคารอยู่สองอาคาร อาคารแรก Sheesh Mahal (วังกระจก) เป็นอาคารที่ผนังและเพดานประดับด้วยกระจก และมีการแกะสลักหินอ่อนเป็นรูปดอกไม้อย่างสวยงาม เป็นอาคารที่เราชอบที่สุดในที่แห่งนี้ ว่ากันว่าแค่มีการจุดเทียนเพียงเล่มเดียว ก็จะเกิดแสงสะท้อน ส่องสว่างไปทั้งอาคาร ทำให้เหมือนอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว โรแมนติกสุดๆ แถมยังเป็นที่ที่เค้าว่ากันว่ากษัตริย์ชอบมาอยู่ตอนหน้าหนาวด้วย เพราะแสงสะท้อนจากกระจกช่วยให้ตัวอาคารอบอุ่น ในส่วนของดอกไม้ที่แกะสลักอยู่ที่ผนัง (Magic Flower) มีความพิเศษคือ นอกจากมองเป็นรูปดอกไม้แล้ว สามารถมองเป็นรูปสิ่งต่างๆได้อีกเจ็ดอย่าง เช่น หางปลา งวงช้าง แมงป่อง เป็นต้น

อาคารถัดไป Sukh Niwas เป็นอาคารสีขาว ที่ผนังมีการแกะสลัก ตกแต่งทางด้วยสีพาสเทล ดูน่ารักเย็นตา ตรงนี้เป็นที่พักผ่อนของกษัตริย์ โดยความพิเศษของอาคารหลังนี้คือมีการออกแบบให้น้ำไหลผ่านแล้วสร้างความเย็นให้อาคารได้ เหมือนเป็นอาคารติดแอร์ จึงเหมาะเอาไว้นั่งเล่นในหน้าร้อน

เดินทะลุต่อไป ตรงนี้จะงงๆ เป็นเหมือทางเดินลับ ทางเดินเล็ก มืดๆแคบๆ พวกเราเดินทะลุไปทะลุมาแบบไม่รู้ทิศทาง ขึ้นบันไดไปมาไปโผล่อยู่ด้านบน เจออาคารหลังนึง อาคารหลังนี้สวยงาม ผนังถูกวาดเป็นลายดอกไม้ น่าจะใช้เป็นจุดชมวิว เพราะสามารถเห็นพื้นที่ได้หลายจุด

พอมองลงไปจะเป็นลานกว้าง เป็นส่วนของผู้หญิงในวัง (Zenana) ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุด มองไปโดยรอบจะเป็นห้อง ซึ่งว่ากันว่ามีอยู่ 12 ห้องหลักสำหรับพระมเหสีแต่ละคน ในส่วนตรงกลางจะมีที่นั่งเล่น (Baradari) อยู่กลางลานให้กษัตริย์มาพักผ่อนหย่อนใจกับผู้หญิงของพระองค์

เดินไปเดินมาผลุบๆโผล่ๆ จนคิดว่าครบทุกจุดแล้ว ก็พากันกลับมาที่รถ พระอาทิตย์เริ่มตกแล้ว Puran พาขึ้นรถแวะมาถ่ายรูปด้านหน้าอีกที พวกเราจากไปพร้อมภาพความยิ่งใหญ่ของป้อมแห่งนี้

Jal Mahal

ถัดไปไม่ไกล จากถนนที่เรากลับจาก Amer Fort เข้าเมือง จะมองเห็นทะเลสาบ Man Sagar ซึ่งกลางทะเลสาบจะเห็นพระราชวังอยู่กลางน้ำ พวกเราหยุดแวะถ่ายรูป ตอนกลางคืนก็ดูสวยดีเหมือนกัน เพราะได้เห็นเงาของพระราชวังสะท้อนอยู่ในน้ำ

Jal Mahal ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดย โดยกษัตริย์ราชปุตเผ่า Kachawaha เพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนหย่อนใจบริเวณทะเลสาบ พระราชวังนี้มีความสูงห้าชั้น แต่ปัจจุบันมีเพียงแค่ชั้นเดียวที่ลอยอยู่เหนือน้ำ

หลังจากนั้นพวกเราใช้เวลาฝ่ารถติด กว่าจะถึงโรงแรมก็ทุ่มกว่าแล้ว ไปถึงยังมีเรื่องให้ปวดหัว คือโรงแรมที่จองมา Umaid Bhawan Heritage Style พอพวกเราไปถึง ก็ให้การต้อนรับชวนคุยอย่างดี เสร็จอยู่ๆคนยกกระเป๋าก็พาพวกเราเดินไปอีกตึกนึงที่อยู่ข้างๆโรงแรม ตึกเป็นอพาร์ทเมนท์ สภาพภายนอกดูเก่าๆหน่อย ระหว่างเดินไป เราก็เริ่มงงว่าจะพาเราไปไหน เพราะโรงแรมตามที่ดูในรูปมา มันคืออยู่ตรงที่พวกเราไปเช็คอินเลย ก็ยังคิดในแง่ดีว่ามันพามาอ้อมขึ้นอีกทางรึป่าว เดี๋ยวจะมีทางเชื่อมกลับไปโรงแรม จนพอมาถึงห้องถึงรู้ว่าพวกเราไม่ได้นอนโรงแรม แต่กลับจะได้นอนที่อพาร์ทเมนท์นี่แทน เพื่อนเราก็ผิดหวังสุดๆ เพราะที่เลือกจองโรงแรมนี่มา เพราะเค้าชอบการตกแต่งของโรงแรม ถามคนยกกระเป๋าว่าทำไมมาที่นี่ คนยกกระเป๋าก็บอกว่าต้องคุยกับ Reception แล้วเลยหมุนโทรศัพท์ไปให้คุย เพื่อนคุยได้ความมาว่าโรงแรมไฟดับ เลยให้ย้ายมาอยู่ที่นี่แทน เดี๋ยวพรุ่งนี้จะชดเชยให้ด้วยการ Upgrade เป็นห้องสวีทให้ฟรี คิดๆกันเสร็จก็ไม่รู้ว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้กลับไปอยู่โรงแรมรึป่าว สภาพที่อพาร์ทเมนท์จริงๆก็โอเคเลย เป็นอพาร์ทเมนท์ใหญ่สามห้องนอน แต่ละห้องมีห้องน้ำในตัว มีห้องรับแขก ห้องครัว ขี้เกียจจะคิด เพราะหิวข้าวแล้ว เลยตัดสินใจว่าออกไปกินข้าวก่อนเดี๋ยวค่อยกลับมาจัดการ

เรียก Uber ไปที่ร้าน Meraki Kitchen ร้านนี้เป็นร้านที่ขายแต่ Veggie บรรยากาศร้านดีมาก ได้นั่งด้านนอก ตอนแรกนั่งหนาวมากกะจะขอย้ายไปด้านในแต่ร้านเอาเตาไฟมาให้เลยนั่งได้สบาย อาหารที่สั่งวันนี้เป็น Street food ของแต่ละท้องที่ของที่อินเดีย อาหารสชาติอร่อย จานใหญ่ กินกันจนแน่นท้อง

ขากลับก็เรียก Uber กลับ Uber ที่นี่บริการดี มารับตรงที่ ไม่ต้องโทรคุยกันไปมาให้วุ่นวายเหมือนเมืองไทย ราคาก็ถูกแสนถูก กลับมาถึงโรงแรมเดินไปคุยกับ Reception เค้าก็ดูขอโทษขอโพย บอกว่าไฟดับที่เฉพาะห้องของเรา วันนี้ยังไงก็ต้องกวนให้ไปนอนที่ห้องนั้น จากเหตุผลที่เค้าให้ประกอบกับการพูดจาที่ดี เลยคิดว่าเค้าไม่ได้หลอก แต่จริงๆถ้าเค้าอธิบายให้ฟังก่อนที่จะให้คนยกกระเป๋าพาเดินไป เราก็คงรู้สึกดีกันกว่านี้ คืนนี้เลยกลับไปนอนที่อพาร์ทเมนท์ ด้วยความกลัวคนบุกเข้ามา เลยเอาเก้าอี้มาวางกั้นประตูเอาไว้ด้วย สรุปคืนนี้เป็นคืนที่นอนสบายที่สุด เพราะได้ห้องนอนส่วนตัว แถมที่อพาร์ทเมนท์นี้เงียบมาก ไม่มีเสียงกวนเหมือนเวลาอยู่โรงแรมเลย เป็นอันว่าดีจนอยากจะนอนต่ออีกคืน

 

Day 5 Jaipur

เช้าวันนี้ มีการปรับแผนจากที่พวกเราเตรียมมาเล็กน้อย ด้วยความที่ Puran คงเหนื่อยและไม่ไหวที่จะตื่นมารับเราตั้งแต่เช้า เลยขอมารับสายหน่อย แผนการไป Jawahar Circle ตั้งแต่แปดโมงเช้าของพวกเราเลยต้องพับไป เลยมีเวลามานั่งกินข้าวเช้าชิวๆที่โรงแรม พอถึงเก้าโมงเช้า Puran ก็มาตามเวลานัด เค้าเสนอให้พวกเราไปเที่ยวในตัว Pink City ก่อน ซึ่งตรงนั้นพวกเราสามารถเดินเที่ยวเองได้เลย เค้าจะจอดรออยู่ที่ที่จอดรถ

Jaipur เริ่มสร้างในปี 1727 โดย Maharaja Sawai Jai Singh II ราชปุตเผ่า Kachawaha ซึ่งมีความตั้งใจที่จะย้ายเมืองหลวงมาจาก Amer เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ Jaipur เป็นเมืองแรกในอินเดียที่มีการวางผังเมืองก่อนสร้าง

ว่ากันว่ากษัตริย์ Jaipur เกือบทุกพระองค์มีความชื่นชอบในศิลปะมาก จึงมีการเชื้อเชิญให้นักศิลปะทุกแขนงจากทั้งในและนอกอินเดีย มาตั้งรกรากอยู่ที่ Jaipur และร่วมกันสร้างเมือง ทำให้ Jaipur เป็นเมืองที่สวยงาม เป็นแหล่งรวมของช่างฝีมือหลายแขนง

Pink City ถูกเรียกตามบ้านเรือนที่ถูกทาเป็นสีชมพูทั้งเมือง โดยการทาสีชมพูนี้เริ่มขึ้นตามคำสั่งของ Maharaja Sawai Ram Singh เพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าชายแห่งเวลส์ Albert Edward ในปี 1876 โดยสีชมพูถูกเลือก เพราะเป็นสีที่หมายถึงการต้อนรับ และเบื้องหลังถือเป็นการแสดงอำนาจของ Maharaja Sawai Ram Singh ที่เป็นหนึ่งในแคว้น สามารถให้ทุกคนทำตามคำสั่งได้ และที่เมืองยังคงเป็นสีชมพูหลังจากการเยือนของเจ้าชาย Albert ก็เป็นเพราะพระมเหสีของ Maharaja Sawai Ram Singh ชอบสีนี้มาก จึงพยายามผลักดันให้กษัตริย์ออกกฎหมายห้ามทาสีอาคารเป็นสีอื่นในเขตนี้ ซึ่งกฎหมายได้รับความเห็นชอบในปี 1877 จนถึงปัจจุบัน

Jantar Mantar

Puran ส่งพวกเราลงตรงทางเข้า Jantar Mantar ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ City Palace ก่อนลงมีการบอกว่าอย่าช้อปปิ้งอะไร เพราะแถวที่สินค้าคุณภาพไม่ดี ตอนที่พวกเราไปถึง City Palace ยังไม่เปิด พวกเราเลยเดินเข้าไปดูที่ Jantar Mantar ตอนซื้อตั๋วเห็นป้ายค่าไกด์ ราคาถูกแค่ 200 รูปี แต่พวกเราก็ไม่เอา เดินเข้าไปได้ไม่ถึงห้านาที เห็นเครื่องหน้าตาประหลาดมากมาย ดูไม่รู้เลยว่าอะไร เลยเดินกลับออกมา จ่ายค่าไกด์เลย สรุปว่าคุ้มสุดๆ ไกด์อธิบายไปทีละเครื่องเลย ว่าแต่ละเครื่องทำงานยังไง

Maharaja Sawai Jai Singh II เป็นกษัตริย์ที่เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ ด้วยความที่ต้องการให้อินเดียมีเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรง เนื่องจากพระองค์มีความเชื่อในเรื่องของการใช้ดวงดาวในการทำนายโชคชะตาโดยเฉพาะในเรื่องของการทำสงคราม หอดูดาว Jantar Mantar จึงเริ่มถูกสร้างขึ้นในปี 1723 ซึ่งมีทั้งหมดห้าแห่ง โดยหอดูดาวแรกถูกสร้างขึ้นที่ Delhi ส่วนของที่ Jaipur สร้างเสร็จเมื่อปี 1734 เป็นหอดูดาวที่มีขนาดใหญ่และมีเครื่องมือมากที่่สุดในห้าแห่ง

การเดินเล่นเป็นไปอย่างสนุกสนาน จากที่คิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถอยู่ได้เรื่อยๆเหมือนกัน หลักๆที่สนุกคือไกด์พยายามสอนวิธีในการดูของแต่ละเครื่องให้ แต่ที่เข้าใจง่ายสุดน่าจะเป็นพวกเครื่องนาฬิกาแดด เพราะสามารถเห็นเวลาตอนนั้นได้จริงๆ โดยเวลาของ Jaipur จะช้ากว่าเวลากลางไป 17 นาที ไม่น่าเชื่อว่าเครื่องที่สร้างมาเป็นร้อยๆปี จะสามารถบอกเวลาได้อย่างแม่นยำ ตรงกับเวลาของนาฬิกาในสมัยปัจจุบัน ที่นี่ยังมีนาฬิกาแดดที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 27 เมตร ส่วนเครื่องอื่นๆก็จะเป็นพวกเครื่องที่บอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และตำแหน่งดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้า

City Palace

ไกด์ชักชวนบอกว่าให้เราจ้างเค้าต่อมั๊ย เดี๋ยวเค้าจะพาไปเดินดูที่ City Palace เห็นเค้าอธิบายดี ก็เลยตกลงปลงใจจ้างต่อ โดยเค้าก็คิดราคาเพิ่ม แพงกว่าเดิมนิดเดียว แต่จำไม่ได้แล้วว่าเท่าไหร่ พวกเราเดินข้ามถนนมาถึงที่ขายตั๋ว ตั๋วที่ขายสำหรับเข้าชมเวลาปกติมีสองแบบ แบบธรรมดา 500 รูปี กับแบบ 3,000 รูปี ที่สามารถเข้าไปชมห้องพิเศษ พร้อมมีไกด์ให้ ห้องไฮไลท์นี้ถ้าดูตาม IG จะเป็นห้องสีฟ้าๆ ลวดลายสวยงาม คนไทยฮิตไปถ่ายรูปมาก ไกด์บอกเราว่าไม่ต้องซื้อแบบพิเศษหรอก ราคาต่างกันตั้งเยอะ แถมได้ชมเพิ่มแค่ไม่กี่ห้อง ไม่รู้กลัวตกงานรึป่าว เพราะถ้าซื้ออันนั้น เค้าก็แถมไกด์มาด้วย แต่ด้วยความงกเราก็เชื่อไกด์ในทันที

City Palace ถูกสร้างขึ้นโดย Maharaja Sawai Jai Singh II ในปี 1729 ออกแบบโดยสองสถาปนิกคนสำคัญของ Jaipur Vidyadhar Bhattacharya และ Sir Samuel Swinton Jacob และในภายหลังค่อยๆถูกต่อเติมโดยกษัตริย์ที่มาปกครองต่อจนถึงช่วงศตวรรษที่ 20 สถาปัตยกรรมของที่นี่จะเป็นแบบโมกุลผสมกับราชปุตและตะวันตก ปัจจุบันราชวงศ์ยังอาศัยอยู่ที่นี้ แต่เป็นส่วนที่ไม่ได้เปิดให้เข้าชม

จุดแรกที่มาถึง Mubarak Mahal อาคารต้อนรับที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดย Maharaj Madho Singh II ตัวอาคารสีขาว แกะสลักอย่างสวยงาม ปัจจุบัน เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้า มีการจัดแสดงพวกเครื่องทอของราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ผ้าคลุม พรม ไกด์ก็อธิบายไปทีละชิ้นสองชิ้น ชิ้นที่เป็นจุดเด่น และสะดุดตาที่สุดในนี้น่าจะเป็นชุดของ Sawi Madho Singh I เสื้อผ้าชุดใหญ่ของชายที่มีน้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม ความรู้ใหม่อีกอย่างนึง คือ กีฬาโปโลที่เล่นกันอยู่ทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากที่อินเดีย มีชุดโปโลของกษัตริย์แสดงให้เห็นอยู่ด้วย

จุดต่อไปคือประตูทางเข้า Virendra Pol ประตูหินอ่อนแกะสลัก ด้านข้างมีรูปปั้นช้างสองตัว และก็มีคนเฝ้าประตูแต่งตัวเต็มยศยืนอยู่สองคน สองคนนี้เรียกพวกเราเข้าไปถ่ายรูปด้วย พวกเราก็เดินงงๆไปถ่ายด้วย เสร็จแล้วเค้าก็ขอทิปแบบจริงจัง ถามเราก่อนสักคำมั๊ยว่าอยากถ่ายรูปด้วยรึป่าว

พ้นประตูเข้าไปเป็นอาคารสีชมพูสดใส ด้านนอกเป็นกำแพงสีชมพูโดยรอบ ที่ประตูทางเข้า Sabha Niwas จะมีปืนใหญ่ 2 อันวางอยูด้านหน้า ที่นี่เป็นท้องพระโรง มีการตกแต่งอย่างสวยงาม รอบๆห้องจะเป็นรูปวาดของกษัตริย์แต่ละพระองค์เรียงรายอยู่บนผนังรอบห้อง ไกด์ก็อธิบายว่ากษัตริย์แต่ละองค์มีจุดเด่นยังไง มีเยอะจนจำไม่ไหว จนแม้แต่องค์ท้ายๆองค์นึงที่หน้าตาหล่อเหลา สะดุดตา ยังจำไม่ได้เลยว่าชื่ออะไร

กลับออกมาด้านนอก เจอโซนที่เป็นร้านขายของ ไกด์บอกจะพาเราไปดูว่าผ้า Pashmina ของแท้เป็นยังไง ณ จุดนี้รู้สึกเลยว่าจะโดนพาไปหลอกซื้อของอีกตามเคย ก็มีพูดกับไกด์ไปว่าเราไม่ซื้อนะ ตามสไตล์ของคนที่นี่ก็จะบอกว่าไม่เป็นไรแค่ดูเฉยๆก็ได้ พอเข้าไปในร้านเจอคนขายเราก็บอกว่า เราไม่ซื้อนะ เค้าก็บอกไม่เป็นไร มาฟังดูก่อน สุดท้ายก็เลยนั่งฟังเค้าเล่า ผ้า Pashmina เป็นผ้าขนสัตว์ที่ทำมาจากแพะพันธุ์ Pashmina คุณสมบัติพิเศษคือจะห่มตอนร้อนก็ได้หรือจะห่มตอนหนาวก็ได้ ประมาณว่าผ้าสามารถปรับอุณหภูมิให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ วิธีการเช็คว่า Pahsmina เป็นของปลอมรึป่าวมีสองวิธี วิธีแรกคือให้เอาผ้าสอดแหวน แล้วรูด Pashmina ของแท้ก็จะสามารถรูดผ่านได้อย่างง่ายได้ คนขายก็เอามารูดเทียบให้ดู วิธีที่สองคือการเผา ผ้า Pashmina แท้เป็นธรรมชาติ เผาแล้ว กลิ่นจะเหมือนผมไหม้ ต่างจากของปลอมเผาแล้วจะเหม็นกลิ่นสารเคมี อันนี้ก็เผาให้เราดม ก็เป็นไปตามที่เค้าว่า หลังจากนั้นก็เริ่มเอาผ้ามาโชว์ให้ดู ผ้าสวย นิ่ม เป็นมันเงา เห็นปุ๊ปก็อยากซื้อทันที เพราะแม่ก็มีสั่งให้ซื้ออยู่แล้ว ผ้าชุดแรกที่เอามาให้ดูเป็นลายเรียบๆสีเดียวราคาผืนละ 1,500 รูปี ผ้าแบบที่สองผืนละ 3,000 รูปี เป็นแบบลายผสมลายสี ผ้าสวยมาก ทำไปทำมา ใช้เวลาเลือกอยู่พักใหญ่ ซื้อไปทั้งหมดแปดผืน สรุปว่าการบอกจะไม่ซื้อตอนแรก ไม่มีความหมายอะไร จริงๆระหว่างซื้อก็คิดถึงคำของ Puran แต่ว่าผ้าอันนี้มันดูสวยจริงๆ สวยกว่าที่เห็นจากด้านนอกทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ไม่รู้โดนหลอกรึป่าวนะ เพราะพอเอากลับมาเมืองไทย เอาไปลองสอดกับแหวน ก็ไม่ผ่าน

ช้อปปิ้งเสร็จ เดินกลับเข้ามาดูอาคารสีชมพูที่เห็นตอนแรก ด้านในสวยงามด้วยซุ้มประตูโค้ง และโค้มไฟระย้าที่ห้อยจากเพดาน ที่นี่คือ Sarvato Bhadra เป็น Hall of Private Audience ที่กษัตริย์ไว้ใช้รับรองแขก ที่นี่มีจัดแสดงโถเงิน Gangajalis อยู่สองโถ ที่ว่ากันว่าเป็นโถเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โถนี้ใช้สำหรับบรรจุน้ำของ Maharaja Sawai Madho Singh II ในคราวที่เสด็จไปเยือนอังกฤษ เพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการแต่งตั้ง Edward VII เนื่องจากตามความเชื่อทางศาสนาของกษัตริย์ที่ว่าพระองค์ไม่สามารถดื่มน้ำจากแหล่งอื่นได้ นอกจากน้ำที่มาจากแม่น้ำ Ganges โดยแต่ละโถสามารถบรรจุน้ำได้ทั้งหมด 4,000 ลิตร โถมีน้ำหนัก 345 กิโลกรัม สูง 1.6 เมตร

เดินทะลุกำแพงอีกด้านเข้าไปจะไปโผล่ที่ลาน Pritam Niwas Chowk จุดไฮไลท์ของส่วนนี้ก็คือประตูสี่บาน ที่มีลวดลายแกะสลักสวยงาม ลวดลายต่างๆกันตามแต่ละฤดู โดยตรงกลางจะมีรูปแกะสลักเล็กๆของเทพเจ้าแต่ละองค์อยู่ Lotus gate ฤดูร้อน พระศิวะ / Rose Gate ฤดูหนาว พระนางเทวี / Wave gate ฤดูใบไม้ผลิ พระพิฆเนศ และประตูที่เค้าว่าสวยที่สุด คือ Peacock gate ฤดูใบไม้ร่วง พระวิษณุ พวกเราให้ไกด์พาเดินดูและอธิบายจนเสร็จ ก็บอกไกด์ว่าไม่ต้องรอไปส่งเพราะพวกเราจะอยู่ถ่ายรูป การถ่ายรูปแต่ละประตูต้องต่อคิวนิดหน่อย คนอินเดียก็ดีนะ มีมารยาท ต่อคิวถ่าย ไม่มีใครแซงกัน

มองขึ้นไปด้านบนจะเห็นอาคารหลังสีเหลืองอ่อนตัดกับสีแดง ที่นี่คือ Chandra Mahal ที่อยู่ปัจจุบันของราชวงศ์ อาคารหลังนี้สูงเจ็ดชั้น มีบางส่วนของอาคารที่เปิดให้เข้าชมได้ถ้าซื้อตั๋วแบบแพง

Hawa Mahal

เดินจาก City Palace มามีการหลงทางนิดหน่อย แต่ก็วนมาถึงหน้าถนนหลักของ Pink City สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านขายของ ดูแล้วของก็จะคล้ายๆกันไปหมด ไม่วาจะเป็นผ้าคลุมไหล่ รองเท้าแขก กระเป๋า กำไล เครื่องประดับ ของตกแต่งแบบอินเดีย เดินผ่านก็จะมีแต่พ่อค้าทัก เรียกให้เข้าไปดู แถมทักได้หลายภาษาอีก เดินไปจนเห็นป้าย Tattoo Cafe ที่ด้านหน้าก็มีผู้ชายยืนอยู่เป็นกลุ่ม เสนอตัวจะพาขึ้นไปคาเฟ่ข้างบน จริงๆข้างบนมีหลายๆร้าน โชคดีที่คนที่เราเดินตามมาเป็นคนของ Tattoo Cafe พอดี เรานั่งพักกินน้ำ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมามาก หลังจากเดินเที่ยวมาพักใหญ่แล้วไม่ได้กินน้ำเลย จุดเด่นของที่นี่ก็คืออยู่ตรงข้ามกับ Hawa Mahal พอดี ทำให้เป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุด แต่จะว่าไปลงไปด้านล่างหนึ่งชั้น วิวจะดีกว่าด้านบนสุดนี่

Hawa Mahal หรือพระราชวังสายลม ถูกสร้างขึ้นในปี 1799 โดย Sawai Pratap Singh หลานชายของ Maharaja Sawai Jai Singh II โดยเป็นส่วนต่อขยายของ City Palace เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิงในวัง โดยผู้หญิงเหล่่านั้นสามารถมองออกมาเพื่อเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายนอกได้ โดยไม่ต้องให้ผู้อื่นมองเห็น เนื่องจากในสมัยนั้นธรรมเนียม Purdah ที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงในวังถูกเห็นหรือปรากฎตัวให้คนภายนอกได้ยังถูกใช้อย่างเคร่งครัด พระราชวังมีความสูงห้าชั้น สร้างโดยเลียนแบบรูปทรงของมงกุฎของพระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่กษัตริย์เคารพ ตัวพระราชวังมีหน้าต่างบานเล็กๆรวมกันถึง 953 บาน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ลมสามารถผ่านเข้าไปในพระราชวัง ช่วยคลายร้อนได้ในหน้าร้อน

เราพัก ถ่ายรูปเล่นกันจนหายเหนื่อย พวกเราตัดสินใจไม่เดินเข้าไปชมด้านในของ Hawa Mahal แล้วเพราะขี้เกียจ เลยเดินกลับไปหา Puran โชคดีระหว่างทางเจอร้านขายขนมถุงๆข้างทางพอดี เลยได้ซื้อมาใส่ด้านบนถุง ปกปิดความผิดที่ไป Shopping ผ้าคลุมไหล่มา

ออกเดินทางต่อไปยัง Cafe Palladio เพื่อไปกินอาหารกลางวัน เวลาตอนนี้ก็เกือบบ่ายสองแล้ว ช้ากว่าที่คิดเอาไว้มาก ร้านนี้ตกแต่งน่ารักมาก ที่นี่เหมือนเป็นจุดรวมของคนไทยที่ต้องมาเช็คอิน เข้ามาถึงมีโต๊ะคนไทยอยู่หลายโต๊ะ อาหารที่นี่รสชาติใช้ได้ แต่ถ้าเทียบกับร้านอื่นที่ผ่านมา ถือว่าเฉยๆ ไม่รู้เป็นเพราะพวกเราสั่งไม่ถูกอย่างรึป่าว

Albert Hall Musuem

นอกเหนือไปจากการทาอาคารเป็นสีชมพูแล้ว Maharaja Sawai Ram Singh ได้สั่งให้สร้างอาคารและตั้งชื่อว่า Albert Hall เพื่อเป็นเกียรติต่อการมาเยือนของ Prince Albert โดยได้เริ่มสร้างในปี 1876 และสร้างเสร็จในปี 1887 โดยในช่วงเริ่มแรกของการก่อสร้างยังไม่มีการระบุว่าสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร จนต่อมาในปี 1880 Maharaj Madho Singh II ได้อนุมัติให้อาคารแห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ผ่าตัดในราชสำนัก Dr. Thomas Holbein Hendley โดยสถาปัตยกรรมเป็นแบบ Indo-Saracenic ซึ่งสถาปนิกชาวอังกฤษนิยมสร้างในสมัยนั้น โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Islamic ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบ Neo-Classic และ Gothic ของอังกฤษ

Parun ส่งพวกเราลงด้านข้างของ Albert Hall ที่นี่มีของจัดแสดงอยู่เป็นห้องๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รูปปั้น เหรียญ งาช้าง รูปวาด เครื่องประดับ ผ้า และอีกหลายสิ่งอย่าง พวกเราเดินทะลุจากห้องนึงไปอีกห้องนึง ตามทางเดินไปเรื่อยๆ ดูจนคิดว่าครบหมดก็กลับลงมา เดินอ้อมไปหน้าตัวตึกเพื่อถ่ายรูป ด้านหน้าเป็นลานกว้าง เต็มไปด้วยฝูงนกพิราบ เมื่อไหร่ที่มีคนวิ่งไล่ ก็จะบินวนไปมาเต็มท้องฟ้าไปหมด

เสร็จจากที่นี่ก็ประมาณบ่ายสาม โปรแกรมที่พวกเราต้องไปโดยไม่ได้วางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าคือ การไปซื้อของที่ร้านของ Puran เค้าบอกว่าที่นี่เป็นร้านของรัฐบาล บริษัทเค้าขอร้องให้พาลูกค้าทุกคนไป เค้าบอกว่าของที่นี่มีคุณภาพหมดทุกอย่างเพราะได้รับการรับรองจากรัฐบาล แต่เราไปดูแล้วจะซื้อไม่ซื้อก็ได้ เพราะเค้าไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นอะไร จะได้แต่ของขวัญ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่พวกเราเลยว่าจะซื้อไม่ซื้อ

พวกเราไปถึงร้านเป็นอาคารใหญ่ ไปถึงมีคนมาอธิบายให้ฟังว่าหินสีต่างๆที่ Jaipur ขึ้นชื่อยังไง พร้อมมีอธิบายวิธีการทำ พออธิบายจบก็พาไปในร้าน เอาแบบแหวนและต่างหูมาโชว์เต็มไปหมด เราตั้งใจไว้อยู่แล้วว่ามาถึงจะซื้ออะไรสักอย่าง เพราะถือเป็นการช่วย Puran เลยเลือกซื้อต่างหู Amethyst ที่เป็นหินประจำราศีกลับมา แต่การซื้อของไปหนึ่งอย่างก็ไม่ได้ช่วยอะไร ตามสไตล์คนขายของเมืองนี้ ก็จะสามารถพูดตื้อให้ซื้อนู้นนี่ต่อ แต่ด้วยการที่ฝึกความจิตแข็งมาหลายวันก็เลยปฏิเสธไปได้ จบจากเครื่องประดับนึกว่าจะขึ้นรถกลับบ้านได้ ปรากฎว่าตึกนี้ได้รับการออกแบบไว้อย่างดีให้ไม่มีทางออก คือจริงๆจะออกได้ก็ต้องเดินย้อนถอยหลัง แต่ด้วยธรรมชาติของคนก็ต้องเดินตรงไปตามทางเดิน พวกเราเลยต้องเดินผ่านห้องสินค้าแบบไม่รู้จบสิ้นตั้งแต่ ผ้า Pashmina กำไลอินเดีย รองเท้าแขก กระเป๋าแขก ผ้าสาหรี่ รูปปั้นหล่อ รูปวาด กว่าจะหลุดออกมาได้ถึงทางออกแทบแย่

จุดหมายต่อไปคือการไปกิน High Tea ที่ Rambagh Palace แต่ก็ต้องตัดใจ เพราะการจราจรหนาแน่นมาก พวกเรากลัวว่าจะไปถึงที่ Jawahal Circle ไม่ทันตอนที่ยังมีแสงสว่างอยู่ เลยบอก Puran ว่าไม่ไปแล้ว แต่แล้ว Puran ก็คิดโปรแกรมใหม่ที่อยู่ระหว่างทางมาแทรกให้ Puran ชักชวนให้ไปดู Monkey Temple บอกว่ามีลิงเป็นพันตัว พวกเราเคยได้ยินตั้งแต่ก่อนมาแล้ว แต่ไม่อยากไป เพราะนึกถึงพวกลิงนิสัยไม่ดีที่เมืองไทย ก็เลยบอกว่าไม่เอา แต่ Puran ดูเหมือนอยากให้ไปก็เลยไปก็ได้

มาถึง Puran บอกให้ลงจากรถ ไปเล่นกับลิง พวกเราก็กลัว เพราะมีผู้ชายมายืนล้อมอยู่เต็มรถ Puran ก็เลยเดินลงไปด้วย พอพวกเราลง Puran ก็บอกให้ไปถ่ายรูปกับลิง ก็ไม่ได้อยากไปเลย แต่ก็ไปตาม เสร็จผู้ชายพวกนั้นก็เริ่มมาขายอาหารลิง เราเห็นมันถูกราคาแค่ 50 รูปี ก็คิดว่าซื้อๆไปถุงนึง ตัดรำคาญ ปรากฎว่าซื้อไปยังไม่จบ ผู้ชายคนนั้นบอกพวกเราต้องให้นะ ลิงที่นี่นิสัยดี อย่างนู้นอย่างนี้ ด้วยความจิตอ่อนก็เลยต้องทำตามไป ทำเสร็จมีการสั่งให้ถ่ายรูปเก็บไว้ด้วย จากนั้น พอพวกเราจะกลับ ก็บอกว่าอย่าเพิ่ง ต้องเดินขึ้นไปดูข้างบนด้วย ตอนนี้จิตอ่อน คือสั่งไรก็ทำหมด ขึ้นมาก็คือเห็นเป็นวิวประตู โดนสั่งเหมือนเดิม ให้ให้อาหารลิง ให้นั่งตรงนี้ ให้ถ่ายรูปตรงนั้น จนพวกเราไม่ไหว เลยจริงจังเดินกลับ สุดท้ายคือผู้ชายคนนั้นก็มาขอทิป เรากะว่าจะให้แค่ 100 รูปี เพราะเค้าก็ไม่ได้ทำอะไร พอเพื่อนยื่นเงินให้เค้าบอกว่าไม่ได้น้อยไป ต้องให้คนละ 200 รูปี เพื่อนเราก็เลยบอกไม่เอาก็ไม่ต้องเอา แล้วจะเดินขึ้นรถ ปรากฎว่า Puran ไม่รู้หายตัวไปไหน รถก็ล็อคขึ้นไม่ได้ ยืนอยู่พักนึงถึงโผล่มา พอเราขึ้นรถได้เค้าก็มาเคาะกระจก เราก็เลยยื่นเงินร้อยนึงออกไปให้ Puran ออกรถพร้อมกับหันมายิ้มถามว่าเป็นไงเล่นกับลิงสนุกมั๊ย คือไม่ได้รู้ตัวเลยใช่มั๊ยว่าพาพวกเรามาเจอกับอะไร โชคดีที่ความดีก่อนหน้านี้ของ Puran มีเยอะ เลยโกรธไม่ลง

เล่นกับลิงเสียเวลาไปพักใหญ่ กว่าจะมาถึงที่วัดฮินดู พระอาทิตย์ก็เริ่มจะตก แอบเซ็งกันเล็กน้อยว่า ถ้าไม่เสียเวลาไปซื้อของ ไปดูลิง ก็คงได้ไปนั่งกิน High tea แล้วเวลายังเหลือๆ คิดไปก็ไม่ได้อะไร รีบลงจากรถ รีบเดินไปไหว้พระทั้งสองวัด ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

Birla Mandir

เป็นวัดฮินดูที่สร้างขึ้นในปี 1977 และสร้างเสร็จเมื่อปี 1985 ถูกสร้างขึ้นโดยตระกูล Birla อภิมหาเศรษฐีของอินเดีย วัดถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาพระวิษณุและพระลักษมี อาคารถูกสร้างอย่างสวยงามด้วยหินอ่อนทั้งหลัง

Moti Dungri

เป็นวัดฮินดูที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1761 เพื่อบูชาพระพิฆเนศ โดยพระพิฆเนศองค์นี้ ตอนที่ถูกนำมาที่ Jaipur มีความเก่าแก่กว่าห้าร้อยปี ซึ่งถูกนำมาโดย Seth Jai Ram Pallival ผู้ติดตาม Maharaja Madho Singh I มาจาก Udaipur

ถือเป็นความโชคดีที่เราทั้งสองคนได้มาไหว้เทพศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามองค์พร้อมๆกัน

Patrika Gate

สุดท้ายพวกเราก็มาถึง Patrika Gate ที่เที่ยวสุดท้ายของทริปนี้ มาถึงก็หกโมงเย็นแล้ว แสงแดดเริ่มริบหรี่ โชคดีที่ยังพอมีแสงให้ถ่ายรูปแล้วเห็นได้บ้าง แค่มองจากด้านนอก ประตูก็มีความสวยงามมากแล้ว แต่พอเดินเข้าไปข้างในความตื่นตาตื่นใจก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซุ้มโค้งประตูเรียงกันเป็นชั้นชั้น แต่ละชั้นถูกวาดด้วยมือ บอกเล่าเรื่องราวของราชสถาน ผ่านสีสันอันงดงาม พวกเราถ่ายรูป หลบคนไปมากันอย่างเพลิดเพลิน จนแสงเริ่มหมดลง ถือเป็นการปิดท้ายเมือง Jaipur ได้อย่างสวยงาม

Patrika Gate เป็นประตูเมืองลำดับที่เก้า ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายของเมือง Jaipur การสร้าง Patrika Gate ทำให้ประตูมีเก้าประตูสอดคล้องกับคัมภีร์วาสตุศาสตรา (อารมณ์เหมือนฮวงจุ้ยของจีน) ที่ถือว่าเลขเก้าเป็นเลขนำโชค โดยสัดส่วนของประตูก็ยังเป็นเลขที่เลขเก้าหารลงตัว โดยประตูมีซุ้มทั้งหมดเก้าซุ้ม แต่ละซุ้มกว้าง 9 ฟุต ประตูกว้าง 81 ฟุต สูง 108 ฟุต แถมประตูยังตั้งอยู่ในแนวเดียวกับ Tripolia Gate ซึ่งสามารถลากเป็นแนวเส้นตรงได้ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของเมือง

ก่อนขึ้นรถเจ้านายของ Puran มารอพวกเราอยู่ เพื่อจะมาเก็บเงินค่าเช่ารถ พวกเราควักเงินออกมาเป็นปึกจ่ายให้กับเจ้านายของ Puran พร้อมชื่นชมความดีของ Puran ให้เจ้านายฟังพอเป็นพิธี Puran พาเรากลับมาส่งที่โรงแรม ถือเป็นอันจบวันของ Puran อย่างเป็นทางการ

พวกเราเข้าโรงแรมเพื่อมาเช็คว่าพวกเราได้ห้องรึยัง เป็นไปตามสัญญา พวกเราได้อัพเกรดเป็นห้องสวีทเรียบร้อย

เดินลงมาเรียก Uber ไปกินข้าวที่ Baradari Restauran and Bar ซึ่งอยู่ที่ City Palace ระหว่างทางได้ชื่นชมวิวของ Jaipur ยามค่ำคืน ความวุ่นวายดูลดน้อยจากตอนกลางวันไปมาก แสงไฟที่ส่องกระทบอาคารสีชมพูดูสวยงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

มาถึงหน้าร้านก็ต้องพบกับความผิดหวัง คนเฝ้าประตูบอกว่าร้านปิดแล้ว พวกเรางงมากเพราะร้านเป็นบาร์ด้วย ยังไงก็น่าจะปิดดึก แต่เค้าบอกว่าปิดก็คือปิด เลยเรียก Uber กลับ ไม่รู้เป็นโชคดีหรือโชคร้าย ตอนนั้นโทรศัพท์เราดันไม่มีสัญญาณขึ้นมา ส่วนเพื่อนก็ไม่มี App Uber อยู่ในโทรศัพท์ พยายามจะดาวน์โหลดใหม่แต่ก็ต้องประสบปัญหา เพราะ App จะส่ง OTP มายืนยัน แต่เหมือนจะส่งมาไม่ได้ ยืนๆอยู่สักพักสัญญานโทรศัพท์เราก็มา กดเรียก Uber ปุ๊ป อยู่ๆผู้จัดการร้านก็เดินมาบอกว่า พวกเราเข้าไปกินได้ งงสุดๆ กด Cancel Uber เข้ามายิ่งงงหนัก ร้านไม่มีอะไรเหมือนจะปิดเลย มีคนนั่งกินอยู่ 3-4 โต๊ะ งงมากจริงๆ

เย็นวันนี้รู้สึกอิ่มเลยสั่งซุปกับสลัดมากินเบาๆ อาหารรสชาติดี บรรยกาศร้านก็ดี ถือเป็นมืออำลาเมือง Jaipur ที่มีความสุข

 

Day 6 Jaipur – Bangkok

วันนี้ต้องตื่นกันเช้าเพื่อมาขึ้นเครื่องบินกลับ ลงมาเจอกับ Puran ตอนตีสี่ Puran มาตรงเวลาเหมือนเดิม Puran ขับพาพวกเรามาส่งที่สนามบิน ติดใจการบริการอยากพา Puran กลับบ้าน ทิปให้ Puran ไปทั้งหมดหกพันรูปี ไม่รู้ว่าเค้าจะดีใจรึป่าว เพราะตอนให้เค้าก็ไม่ได้นับ ได้แต่ทำหน้ายิ้มอารีเหมือนเดิม พวกเราขึ้นเครื่องบิน Thai Smile WE344 เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพ แม้ว่าจะมีการ Delay ให้เรานั่งรออยู่บนเครื่องเกือบชั่วโมงก็ตาม

สรุปทริปอินเดียครั้งนี้ ก็ถือว่าสนุกสนาน ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆหลายอย่าง เพราะเป็นประเทศที่ไม่เคยไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามที่มีสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแตกต่างจากหลายๆที่ที่เคยไปมา คนอินเดียดูมีมารยาท และน่ากลัวน้อยกว่าที่คิดไว้มาก ร้านอาหารอินเดียอร่อยๆ ทุกสิ่งก็คงพอจะชดเชยให้กับหมอกควันพิษ ความสกปรก ความวุ่นวาย และเสียงบีบแตรที่ดังตลอดทั้งวัน

 

 

NooChan Written by:

Journey diary for a forgetful person, like myself!!

Comments are closed.